Powered By Blogger

หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โลหะปราสาท ของประเทศไทย






วันก่อน มีโอกาสไปชมงานสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของวัดสระเกศ ก่อนเริ่มงานภูเขาทอง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ชื่นชมที่วัดสระเกศวรวิหาร ได้จัดให้มีกิจกรรมนี้ก่อนงานปิดทองประจำปีภูเขาทอง แต่ที่สดุดตา และสดุดใจมากกว่าคือ ความงามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ยามค่ำคืน ทางวัดได้ประดับไฟ ณ ตัวโลหะปราสาท งามจับตา ยิ่งนัก เหมือนองค์โลหะปราสาท ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้า เหนือหลังคาอารพลับพลาเจษฎาบดินทร์ อดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เสียดายหากเป็นเวลากลางวันจะได้ขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ต้องดั้นด้นไปนมัสการที่อินเดีย หรือศรีลังกา ของไทยเราก็มี นัยว่าเป็นปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก องค์แรกอยู่ในประเทศอินเดีย ยังมิเคยไป องค์ ที่ 2 อยู่ที่ประเทศศรีลังกา เคยไปแล้ว เห็นแล้วอนาถใจ เหลือแต่เสา และตัวอาคารแห่งหนึ่ง แว่วมาว่า รัฐบาลศรีลังกา คิดจะบูรณะขึ้นมาใหม่ และองค์ที่ 3 อยู่ในประเทศไทยเรานี่แหละ สวยงามจับใจ อย่าลืมไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุกันนะครับ อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้เอง ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของโลหะปราสาท ของเมืองไทยเรา ค้นคว้ามาจากววิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ขออนุญาต คัดลอกข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป และขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

โลหะปราสาทสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดาราม และอยู่ในบริเวณ ลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

โลหะปราสาท ตั้งอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทนี้ สร้างขึ้นตามประวัติพระพุทธศาสนา ถือโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา บุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ที่ชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระลังกา ในราวปีพุทธศักราช 382 เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง

โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต บูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ

การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้

เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

สืบเนื่องจากวโรกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติเป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เมื่อครูไทย.......ไปเรียนหนังสือจีน(ตอน2)





















ความยากลำบากในการเรียนหนังสือจีน ที่มหาวิทยาลัยยูนานนอร์มอล (หรืออีกนัยหนึ่งก็คือสถาบันที่ผลิตครู) ที่มีการสอนหลากหลายสาขา เหมือนมหาวิทยาลัยราชภัฎของไทยเรานี่แหละ เมื่อไปถึงก็บ่ายแล้ว เข้าหอพัก ระหว่างที่รายงานตัวว่าใครจะพักกับใคร มีการลงนามทั้งเป็นภาษาอังกฤษและภาษาจีน (ได้ใช้ภาษาแล้ว) จากนั้นท่านเล่าซือหยู เป็นหัวหน้าเล่าซือที่คอยดูแลอำนวยความสะดวกให้พวกเราทั้ง 48 คน ก็แจกซองขาวให้ เมื่อเปิดออกดูจึงรู้ว่าในนั้นเป็นเงินหยวน ให้คนละ 1,500 หยวน คิดเป็นเงินไทยก็ประมาณ 7,500 บาท อาจารย์บอกว่า เป็นค่าอาหารเพราะทางมหาวิทยาลัยให้หากินกันเอง โดยมอบเงินให้เอาไปบริหาร ถามว่าพอไหมค่าอาหารแค่นี้ พวกเราก็ไม่รู้ว่าจะพอหรือไม่ ก็รับมาแบบงง ๆ ว่ามีอย่างนี้ด้วยหรือ ให้มาเรียนแล้วแถมเงินค่าอาหารให้อีก พวกเราพูดติดตลกว่า " ใจดีจัง เหมือนพวกสามล้อถูกหวยเลย " และแล้วมื้อเย็นก็มาถึง ทางคณะเล่าซือที่ดูแลพวกเราคณะนี้ พาพวกเราไปเลี้ยงที่ภัตราคารของมหาวิทยาลัย ที่ภัตราคารของเขา ที่มหาวิทยาลัยมีหลายห้องมาก คงเอาไว้รับรองแขกด้วย และดูเหมือนเป็นสวัสดิการของเหล่าคณาจารย์ด้วย อาหารมื้อนี้ ที่เราเห็นและทุกคนอมยิ้มแต่ไม่ได้พูดนินทาคือ ไข่น้ำชามใหญ่มีน้ำมากไข่พอประมาณ ฟักทองนึ่งหวานนิด ๆ หากเป็นบ้านเราของเหล่านี้ คือของพื้น ๆ ที่ทำกินกันในบ้าน แต่ที่นี่ไม่ใช่ เป็นเมนูของภัตราคารเลยนะจะบอกให้ มีการเชิญชวนดื่มแล้วชนแก้วชนแก้วดื่มกันเปล่งเสียง " กันเปย " มิได้ขาด พวกเราก็งงอีก เพราะ เป็นคำศัพท์ใหม่อีกคำหนึ่งแล้ว คงจะแปลเป็นทำนองยินดีต้อนรับ หรือยินดีความสำเร็จอะไรทำนองนั้นแหละ ก็เดาเอา พวกเราล้วนดูมีค่า มีชีวิตชีวา จากนั้นเล่าซือได้แจกกำหนดการว่าแต่ละวันทำอะไร หากเป็นวันจันทร์ถึงวันศุกร์ก็จะเรียนตลอด หากเป็นวันเสาร์และอาทิตย์ ทางมหาวิทยาลัยจัดโปรแกรม ให้พวกเราไปศึกษาดูงานตามที่ต่าง ๆ ตลอด ภายในเขตมณฑลยูนาน

วันรุ่งขึ้นเป็นวันหยุด ก็เลยจะพาคณะครูแก่ ๆ จากเมืองไทยไปเที่ยวเสียก่อน เป็นการเอาใจ จะได้ไม่ต้องกังวลเรื่องเรียน เห็นไหมวิธีการนี้ เป็นกลยุทธ์ในการบริหารอย่างหนึ่ง คือทำให้เกิดความรู้สึกดีๆ ก่อนแล้วทุกอย่างก็จะตามมา เหมือนการบริหารงานในองค์การนั่นแหละ หากคนในองค์การมีความรู้สึกที่ดี มีความรัก ศรัทธาแล้ว ทุกอย่างก็สำเร็จลงได้ด้วยความง่ายดาย เช่นเดียวกันนี้เอง บรรดาเล่าซือ พาพวกเราไปเที่ยว ณ ป่าหินอายุนับล้านปีที่เรียกว่า(Stone Forest) ที่นูเนสโกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ในวันรุ่งขึ้น พวกเราถูกแบ่งเป็นสองกลุ่ม เพื่อขึ้นรถ 2 คัน คันแรกเป็นรถของมหาวิทยาลัย เก่าและเล็ก ส่วนคันที่ 2 เป็นรถที่ทางมหาวิทยาลัยจ้างมาใหม่หรู แต่พวกเราที่เรียนที่สถาบันรุ่นสุดท้ายที่คุ้นเคยกันก็ขึ้นรถคันแรก ถึงจะเป็นรถเก่าและเล็กก็ยินดีขึ้นเพราะเป็นกลุ่มเล็ก ๆ เพียง ยี่สิบกว่าคน

การเดินทางก็มาถึง รถออกจากมหาวิทยาลัย ยังไม่ทันออกนอกตัวเมืองคุณหมิง พวกเราในคณะก็หมดความอดทนแล้ว หลายคนบอกกับบอกกับ 杨悦老师 (หยางเย่อเล่าซือ) ว่า "ทนไม่ไหวแล้ว ขอให้จอดปั๊ม เพื่อปัสสาวะหน่อย " ท่านก็ใจดี ส่งภาษาจีนบอกให้คนขับจอดปั๊มก่อนขึ้นทางด่วน เพื่อให้พวกเราเข้าห้องน้ำกัน ทุกคนต้องเสียค่าบริการ จำไม่ได้แล้วว่าเท่าไร เมื่อเสียค่าบริการแล้ว ทุกคนวิ่งเข้าหาห้องน้ำ หาได้ไม่ยากเลย เพราะพวกเราทั้งวิ่งและเดินตามกลิ่นไปนั่นเอง ไปถึงเสียงบรรดาครูผู้หญิงส่งเสียงเจี้ยวจ้าว โวยวายกันใหญ่โต ว่า " อย่าเพิ่งเข้ามานะ ฉันกำลังฉี่อยู่ " หรือไม่ก็ บอกว่า " ยืนกันให้หน่อย ขอฉี่ให้เสร็จก่อน หันหน้าออกไป อย่าดูฉันนะ " แล้วก็ส่งเสียงกันโกลาหลไปหมด นั่นก็คือ ส่วนของห้องน้ำหญิง ส่วนห้องน้ำชายก็คือ มีที่ปัสสาวะ และด้านตรงข้ามเป็นส้วมถ่วยอุจาระ ที่ไม่มีประตู ใครเข้าก็เห็นกันหมด ขณะที่พวกเราเข้าไปปัสสาวะ ก็ยังมีชาวจีนผู้ชายนั่งอึ หน้าตาเฉย เขาไม่อาย แต่เราอายแทน เขานั่งกันหน้าตาเฉย แต่กลิ่นนี่ซิ รุนแรง ไปหลายเมตรเลยละ (นี่ไม่ใช่เอาเรื่องเขามาประจานนะ แต่เป็นการเล่าประสบการณ์ตรง ที่พวกเราไปพบมา และนี่คือวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของเขา) เมื่อขึ้นมาบนรถแล้ว พวกเรายังคุยและหัวเราะกันอีกยืดยาว จน 杨悦老师 หยางเย่อเล่าซือ เล่าให้ฟังว่า คนจีน หากเดินทาง จะไม่ดื่มน้ำเพราะหาที่ปัสสาวะยากมาก ดังนั้น ขณะที่พวกเราวิ่งหาที่ปัสสาวะ ครูจีนของเรามิได้ลงจากรถไปปัสสาวะกับพวกเราเลย สักแห่ง การเดินทางบางรายการของพวกเราต้องจอดรถกลางทางแล้วเอาผ้าคลุม เพื่อให้ครูจากเมืองไทย ปัสสาวะยังมีเลย

เมื่อมาถึง Stone Forest ก็ละลานตา ไปด้วยแผงผลไม้ที่บรรดาพ่อค้าแม่ค้าชาวจีน นำมาขายพวกนักท่องเที่ยว บางคนเชิญชวนเป็นภาษาไทยก็มี ที่นี่หินสวยมาก เป็นรูปร่างแปลกตา มีอายุนับล้าน ๆ ปี ที่โผล่พ้นดินขึ้นมา บางก้อน หัก น่ากลัวหล่นทับเสียเหลือเกิน บางก้อนเหมือนรูปช้าง เขาก็ตั้งชื่อไปตามนั้น แล้วแต่จะจินตนาการ เมื่อขึ้นถึงทอ๊ปวิว คือจุดสูงสุดแล้วจะเห็นหินเหล่านี้ มากมาย โผล่ยอดแหลม ๆ มีมากมาย มองดูแล้วเหมือนป่าเลย คือป่าที่มีแต่หิน มีมากมายจริง ๆ มองไปทางไหนก็มีแต่หินอายุนับล้าน ๆ ปีเต็มไปหมด ทางการจีนเขามีกลยุทธ์ที่ดีสำหรับใช้พื้นที่ในป่าหินนี้ คือเขาไม่สร้างกระเช้าไฟฟ้าให้นักท่องเที่ยวขึ้นไปข้างบน เพียงแต่สร้างทางขึ้นให้สะดวกมากขึ้นเท่านั้นเอง ถามว่ามาเที่ยวที่แห่งนี้ แล้วได้อะไร ตอบได้เลยว่า ได้หลายอย่าง ได้ออกกำลังกายจากการเดิน ปีนป่ายหินผา ได้เรียนรู้วิธีการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยวของเขา ให้แก่คนในประเทศและคนต่างขาติ ได้เรียนรู้ภาษา อันเป็นจุดประสงค์ใหญ่ของคณะเรา ได้เรียนรู้วิถีชีวิตและวัฒนธรรม ประเพณีต่าง ๆ ของพวกเขา เป็นผลให้คืนนั้นพวกเรานอนหลับสนิทเลย เพราะได้ออกกำลังปินป่ายภูเขาหินที่ Stone Forest

วันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2552

แผนที่ความดี ของ พี่สริ : ผู้อุทิศเวลาช่วยเหลือชุมชนและสังคม

พี่สริ : ผู้อุทิศเวลาช่วยเหลือชุมชนและสังคม

พี่สริเป็นชาวบ้านปลายคลองตาปลั่ง เป็นที่รักใคร่และนับถือของคนทุกคน พี่สริเปรียบเสมือนแม่บ้านของชุมชน เพราะพี่สริเป็นหัวหน้าแม่ครัวที่คอยช่วยเหลือกิจการงานต่าง ๆ ภายในชุมชนและหมู่บ้านมาโดยตลอด
พี่สริเกิดในครอบครัวที่พร้อมไปด้วยพ่อแม่ที่มีบุตรสาวเพียงคนเดียว เมื่อเติบโตเข้าสู่วัยรุ่นคุณแม่ก็ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต คุณพ่อก็มีภรรยาใหม่ และมีน้องต่างมารดาอีก ๕ คน พี่สริก็ต้องไปอาศัยอยู่กับคุณยาย ได้รับการเลี้ยงดูแบบไทย คุณยายสอนการปรุงอาหารหวานคาว ให้รู้จักช่วยเหลือผู้อื่น การแบ่งปันและการให้ พี่สริเป็นหญิงสาวสวยประจำหมู่บ้าน ต่อมาได้สมรสกับคุณพี่เกรียงศักดิ์ มโนธรรมภัทร มีบุตรธิดารวม ๔ คน และเลี้ยงดูบุตรจนโตมีอนาคตที่ดีเป็นที่พึ่งของพ่อแม่ได้ พี่สริเป็น อ.ส.ม.ประจำหมู่บ้าน แนะนำเรื่องการกำจัดยุงลาย เป็นประชาสัมพันธ์เรื่องสุขภาพอนามัยให้กับสถานีอนามัยบ้านตากแดด นอกจากนี้พี่สริยังเป็นแม่งานของหมู่บ้าน ถ้าบ้านไหนจัดงานต่าง ๆ เช่น งานบวช งานแต่ง งานศพ ฯลฯ ชาวบ้านก็จะไปหาพี่สริไหว้วานให้เป็นแม่ครัวดูแลเรื่องการทำอาหารหวานคาว พี่สริไม่เคยปฏิเสธและให้ความช่วยเหลือทุกครั้ง ตั้งแต่วันสุก-ดิบจนเสร็จงานโดยไม่เห็นแก่เหน็ดแก่เหนื่อย เมื่อเห็นพี่สริทีไรก็มีแต่รอยยิ้มที่สดชื่น คำทักทายที่ร่าเริงเป็นกันเอง เวลามีงานศพที่วัดพี่สริจะไปช่วยเป็นแม่ครัว และฟังพระสวดพระอภิธรรมทุกคืน การช่วยเหลือในเรื่องงานบุญทางวัดราษฎร์ศรัทธาราม พี่สริก็จะให้ความร่วมมือทุกด้านอุทิศเวลาช่วยเหลือมาโดยตลอด พี่สริยังเป็นตัวแทนเก็บค่าฌาปนกิจ-ศพประจำหมู่บ้าน บางครั้งพี่สริบอกว่า “ ออกให้ก่อนแล้วนะ ” ดังนั้นพี่สริจึงเป็นบุคคลที่อุทิศเวลาช่วยเหลือชุมชนและสังคมอย่างแท้จริง
ปัจจุบันนี้พี่สริมีสุขภาพไม่ค่อยแข็งแรง ด้วยวัยชรา มีโรคประจำตัวและการทรงตัวไม่ดี แต่พี่สริยังอุทิศเวลาให้กับชุมชนและสังคมอย่างสม่ำเสมอและตลอดไป บุคคลอย่างพี่สรินี้ น่ายกย่องจริง ๆ

นางวาริน บัวเกตุ ผู้เรียบเรียง
ครู โรงเรียนวัดราษฎร์ศรัทธาราม สพท. นฐ. 2

วันอังคารที่ 6 ตุลาคม พ.ศ. 2552

เมื่อครูไทย...ไปเรียนหนังสือจีน(ตอนที่ 1)











การเล่าเรื่องราวครั้งนี้ เป็นการเล่าเรื่องตามคำขอร้องของบรรดาสมาชิก ครูไทย..ที่ไปเรียนภาษาจีน เมื่อ ปี 2549 ว่าขอให้เล่าเรื่องไว้ด้วยจะได้สื่อถึงกันและระลึกถึงความหลัง ที่มิอาจหวนกลับคืนมาได้อีก เพราะวัยร่วงโรย จากความชราไปตามสังขาร

บรรดาคุณครู สังกัดกระทรวงศึกษาธิการจาก ทั่วประเทศ ที่มีโอกาสได้รับการอบรมภาษาจีน จากครูชาวจีน ที่มาให้ความรู้ด้านภาษาจีนเรียนที่ในในเมืองไทยถึง 3 รุ่น ในปีการศึกษา 2549 จากนั้นให้ไปเรียนต่อ ณ ประเทศจีน อีก 1 เดือน ตอนที่ผมและเพื่อน ๆ เรียนภาษาจีนในเมืองไทย ก็ที่สถาบันพัฒนาครู คณาจารย์และบุคลากรทางการศึกษา ซึ่งเปิด 2 รุ่น พวกเราเรียนรุ่นสุดท้ายก็มีกันประมาณ 24 ชีวิต จากหลายจังหวัด ทุกคนต่างบ่นเป็นเสียงเดียวกันเลยว่าหิน จริง ๆ เรียนแล้วหนาว ไม่ใช่เพราะความเย็นของอุณหภูมิจากเครื่องปรับอากาศในห้องหรอก แต่หนาวเพราะกลัวถูกถามจากเล่าซือ ให้ตอบให้พูดตลอดเวลามากกว่า เพื่อน ๆ นินทาตอนพักกลางวันว่า " อะไรกัน เมื่อกี้ ตอบคำถามไปยังไม่ทันไรเลย คำถามเวียนมาถึงอีกแล้ว ยังไม่ทันตั้งตัวเลย สั่นไปหมดแล้ว ฟังก็ยังไม่รู้เรื่องดี เรียงประโยคก็ไม่ถูก พูดก็ไม่ได้ มึนตึบเลย " เป็นอย่างนี้อยู่ 2 เดือนก่อนจะได้ไปเรียนต่อที่ประเทศจีน มีข้อสังเกตว่า หากเรียนในเมืองไทย ไม่มีโอกาสได้ฝึกทักษะการพูดนอกห้องเรียน แต่ถ้าเรียนที่เมืองจีน เรียนเสร็จก็สามารถไปฝึกการพูดกับคนจีนได้ทันทีเพราะเป็นสังคมของชาวจีน เราจำเป็นต้องพูดภาษาเขา ทำให้ได้ประสบการณ์มากขึ้น เข้าหลักการเรียนภาษาที่ถูกต้องเชียวละ การไปครั้งนี้ รวมแล้ว 48 ชีวิต เมื่อไปถึงบรรดาเล่าซือ(อาจารย์)ที่เคยมาสอนศิษย์ที่เมืองไทยมาคอยรับ เชื่อไหม อาจารย์ทั้งหลาย อายุน้อยกว่าลูกศิษย์มาก เขาเหล่านั้นยังเป็นคนรุ่นหนุ่ม ๆ สาว ๆ ทั้งนั้น บรรดาอาจารย์เหล่านี้ ผ่านการเรียนการสอนภาษาจีนให้ชาวต่างประเทศมาแล้ว บางคนจบปริญญาโททางการสอนภาษาสำหรับชาวต่างประเทศโดยตรงเลยก็มี ดังนั้นจึงมีความเชี่ยวชาญที่จะถ่ายทอดภาษา ให้กับคณะพวกเราได้ดี จากคำที่เราไม่รู้เรื่องเป็นคำที่เรารู้เรื่องได้ สรุปท้ายว่า" อ๋อ....คำนี้ในภาษาจีน ก็คือ....ในภาษาอังกฤษ...และก็คือ.....คำนี้ในภาษาไทย ...นั่นเอง " เข้าใจไหมล่ะ คือแปลจากจีนเป็นอังกฤษ และจากอังกฤษเป็นไทย รวมแล้ว 3 ต่อ มันดีไหม

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2552

วันออกพรรษา กับการตักบาตรเทโว











ปีนี้ วันออกพรรษา ตรงกับวันที่มีการเปิดเรียนพอดี แต่เป็นวันที่มีการสอบ ปลายภาคเรียนของเด็ก ๆ แต่โรงเรียนก็เปิดโอกาสให้ครู พานักเรียนตัวเล็ก ๆ ไปตักบาตรเทโวที่วัด ที่โรงเรียนอาศัยที่ของวัดอยู่ พวกเด็ก ๆ ตื่นเต้นกันใหญ่ ทุกคนเตรียมสิ่งของที่จะมาตักบาตรกัน ส่วนใหญ่เป็นอาหารแห้ง พวกขนม กรุบกรอบ ที่นักเรียนชื่นชอบนั่นแหละ เด็กโตหน่อย บอกว่า " ผมเตรียมของมาตักบาตรเอง ผมชอบกินอะไรก็หามา บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ฯลฯ " ส่วนเด็กเล็ก ๆ ผู้ปกครองเตรียมให้ใส่ถุงพลาสติกหิ้วมา บางคนก็นัดกับผู้ปกครองมาตักบาตรพร้อมกันเมื่อผู้ปกครองทำบุญเลี้ยงพระเช้าเสร็จจากศาลา เป็นภาพที่น่าประทับใจมาก เห็นเด็ก ๆ หยิบของใส่ลงในบาตรพระด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม แล้วชื่นใจ จากการพูดคุยกับเด็ก ๆ ชั้นอนุบาล ถามว่า "เสียดายไหม ที่เอาของใส่บาตรหมดเลย" เด็ก ๆ บอกว่า "ไม่เสียดาย ได้ทำบุญ" ถามว่า " ทำบุญเป็นยังไง " เด็ก ๆ ตอบแบบไร้เดียงสาว่า "ก็เอาของไปให้พระไง " เพียงแค่นี้ก็พอทำให้รู้แล้วว่า เด็กเขารู้จักการให้ คือเอาของไปให้พระ การแบ่งบัน การมีน้ำใจต่อคนอื่น กิจกรรมแบบนี้แหละเป็น เป็นกิจกรรมที่ส่งเสริมให้เด็กมีนิสัยอ่อนลง หากสังคมไทยยังจูงลูก พาหลานเข้าวัดกันแบบนี้ จิตใจของเขาจะไม่ใช่คนกระด้าง ดื้อรั้นเป็นแน่ คงจะไม่มียกพวกไล่ตีกัน ให้เป็นที่เดือดร้อน พ่อแม่ และสังคม
ถึงเวลานี้ อยากวอนท่านที่เป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครองทั้งหลาย จงหันมาใส่ใจพาลูกหลานเข้าหาธรรมบ้าง โรงเรียนตัดสินใจถูกแล้วที่งดสอบชั่วโมงเช้า ให้เด็กได้ตักบาตรก่อน สิ่งที่ได้ มากมายเหลือเกิน กับประสบการณ์ดี ๆ ที่เด็ก ๆ ได้รับ ครูก็ได้พบปะพูดคุยกับผู้ปกครอง สรรค์สร้างความสัมพันธ์ที่ดีของบ้าน วัด และโรงเรียน เสียดายแทนเด็ก ๆ กับโรงเรียนที่ไม่มีกิจกรรมแบบนี้เหลือเกิน

วันอาทิตย์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2552

พฤษาสยาม....วาย







เมื่อ วันก่อน เห็นข่าวทาง T V ว่ามีการจัดงานพฤษาสยามขึ้นที่ห้าง The Mall สาขาบางแค ก็ไม่รอช้า
พอวันหยุดเสาร์ - อาทิตย์ ก่อนงานสิ้นสุด ก็เตรียม กล้องคู่ใจ กะ ไปหาซื้อต้นไม้ และถ่ายภาพไม้สวย ๆ เอาไว้อวดเพื่อน ที่ต่างประเทศได้ดูกัน พอไปถึง ก็เดินหาอยู่นาน เห็นซุ้มดอกไม้หน้าห้างก็รู้สึกตกใจแล้วว่า เรามาช้าไปหรือเปล่านี่... ดอกไม้ที่จัดเริ่มเหี่ยวเฉาแล้ว
ใจยังสู้ ไหน ๆ มาแล้ว เดินหาดู เพราะเคยมาครั้งก่อนเขาจัดที่ชั้นบน แต่หาเท่าไรก็หาไม่เจอ คนมากเหลือเกิน ถามพนักงานเขาบอกว่าเขาเลิกหมดแล้ว เหลือจัดขายของอยู่ที่ ชั้น G เท่านั้น ก็ดีนะ บอกว่างานมีถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2552 เขาก็ยังอุตส่าห์ มีถึงวันที่ 5 เป็นร้านขายเล็กๆ
ส่วนอื่น ๆ เก็บหมดแล้ว
ผมก็เข้าใจเขานะ ว่าค่าใช้จ่ายสูง ต้นไม้...ผู้คนก็ไม่ค่อยสนใจเท่าไร นอกจากคนที่รัก และชอบจริง ๆ ....ไม่เป็นไร มาแล้วก็นำภาพประทับใจมาให้ดูละกัน เป็นแบบนี้ไง.......... ถ้าไปสาย จำไว้ มีงานอะไร ให้รีบไปซะแต่เนิ่น ๆ ...จะได้ไม่เหี่ยวแบบที่เห็น 5555

วันพุธที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2552

แด่....พี่จิ๋ม ด้วยดวงใจ

แด่...พี่จิ๋ม ด้วยดวงใจ
ก่อนนั้น พวกเรา จำได้
คนไกล ผู้หนึ่ง มุ่งมา
เป็นครู วัดปรี คลองจินดา
ชื่อว่า สุดารัตน์ นวลอนงค์

เมื่อก่อน ปรีดาราม ลำบาก
เข้ายาก ออกไม่ได้ น่าผวา
ขาดน้ำ ประปา ทุก ๆ ครา
เย็นมา ขาดไฟ ใจระทวย

กลางคืน จุดเทียน เขียนแผน
สุดแสน ระอา เพราะยุงกัด
ข้าวปลา อาหาร ลำบากนัก
เธอก็รัก จะอยู่ เป็นครูดี

เธอได้ พบคู่ สุขสม
มีบุตร ชื่นชม ถึงสอง
ปอนด์ – มาร์ค เด็กดี ไม่มีรอง
เขาทั้งสอง รักแม่ ดั่งดวงใจ

จากปรีดา ย้ายมา สรรเพชญ
เธอเสร็จ ภารกิจ สบายใหญ่
ใกล้บ้าน ไป – มา สบายใจ
เดินทาง ไปไหน สะดวกดี

จากนี้ ขอให้ เธอพัก
ร่างกาย เพื่อจัก สู้ใหม่
สู้เพื่อ ลูกหลาน ยาใจ
พักกาย พักใจ ราชการ

ขอให้ สุดารัตน์ มีสุข
หมดทุกข์ โรคภัย ทั้งผอง
มีเงิน ไหลมา เป็นกอง
เนืองนอง มีสุข ตลอดกาล

จาก
ประสิทธิ์ - รวีวรรณ รื่นกลิ่น
ครูเก่าปรีดาราม

พี่จิตรา ....ที่รักของพวกเรา




พี่ตา.......ที่รักของพวกเรา

เมื่อครั้ง ที่เรา มาอยู่
ปรีดาราม มีครู รุ่นพี่
เสียงดัง ฟังชัด ถนัดดี
โอบอ้อม อารี กับทุกคน

จิตรา คือพี่ คนนี้
คนที่ พวกเรา กล่าวถึง
ความหลัง ยังคง ตราตรึง
นึกถึง ทุกครา สุขใจ

ครั้งใด ที่เรา หิวข้าว
พี่สาว ช่วยหา มาให้
ชวนพี่ ชวนน้อง มาไว
พี่ทำ ให้เธอ กินกัน

พี่สอน เด็กเด็ก เก่งนัก
ปักหลัก ป.1 คงที่
ต่อมา ได้ทำ ความดี
เลื่อนพี่ มาทำ การเงิน


พี่บอก ว่าฉัน ครูเก่า
ไม่เอา คอมพิวเตอร์ หรอกน้อง
ครูเก่า อย่างฉัน ขอจอง
เจ้าของ พิมพ์ดีด เป็นพอ

การเงิน ในนอก รู้รอบ
ตามระบอบ ราชการ ถ้วนถี่
จ่ายงบ ถูกต้อง ทุกที
เป็นที่ ไว้เนื้อ เชื่อใจ

จากเด็ก มาถึง บัดนี้
คุณพี่ อายุ ครบเกษียณ
พี่บอก ลาพวก นักเรียน
จงพากเพียร เมื่อไม่ มีครู

ขอพี่ จงมี แต่สุข
หมดทุกข์ โรคภัย อย่าหา
เงินทอง กองโต มหึมา
มีสุข ทุกเพ - - ลาเทอญ

ด้วยรัก…จากใจ
ประสิทธิ์ - รวีวรรณ รื่นกลิ่น
ครูเก่า ปรีดาราม