Powered By Blogger

หน้าเว็บ

วันอาทิตย์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

โลหะปราสาท ของประเทศไทย






วันก่อน มีโอกาสไปชมงานสืบสานและอนุรักษ์วัฒนธรรมไทยของวัดสระเกศ ก่อนเริ่มงานภูเขาทอง เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา ชื่นชมที่วัดสระเกศวรวิหาร ได้จัดให้มีกิจกรรมนี้ก่อนงานปิดทองประจำปีภูเขาทอง แต่ที่สดุดตา และสดุดใจมากกว่าคือ ความงามของโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ยามค่ำคืน ทางวัดได้ประดับไฟ ณ ตัวโลหะปราสาท งามจับตา ยิ่งนัก เหมือนองค์โลหะปราสาท ลอยเด่นอยู่บนท้องฟ้า เหนือหลังคาอารพลับพลาเจษฎาบดินทร์ อดไม่ได้ที่จะถ่ายภาพไว้เป็นที่ระลึก เสียดายหากเป็นเวลากลางวันจะได้ขึ้นไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุ ไม่ต้องดั้นด้นไปนมัสการที่อินเดีย หรือศรีลังกา ของไทยเราก็มี นัยว่าเป็นปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก องค์แรกอยู่ในประเทศอินเดีย ยังมิเคยไป องค์ ที่ 2 อยู่ที่ประเทศศรีลังกา เคยไปแล้ว เห็นแล้วอนาถใจ เหลือแต่เสา และตัวอาคารแห่งหนึ่ง แว่วมาว่า รัฐบาลศรีลังกา คิดจะบูรณะขึ้นมาใหม่ และองค์ที่ 3 อยู่ในประเทศไทยเรานี่แหละ สวยงามจับใจ อย่าลืมไปนมัสการพระบรมสารีริกธาตุกันนะครับ อยู่ใกล้ ๆ แค่นี้เอง ต่อไปนี้เป็นเรื่องราวของโลหะปราสาท ของเมืองไทยเรา ค้นคว้ามาจากววิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ขออนุญาต คัดลอกข้อมูลเพื่อเป็นวิทยาทานต่อไป และขอขอบคุณ มา ณ โอกาสนี้

โลหะปราสาทสร้างในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 3 เป็นโลหะปราสาทองค์แรกและองค์เดียวของไทย และถือเป็นองค์ที่ 3 ของโลก สร้างอยู่ในพื้นที่วัดราชนัดดาราม และอยู่ในบริเวณ ลานพลับพลามหาเจษฏาบดินทร ยอดปราสาทประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ

โลหะปราสาท ตั้งอยู่ ณ ด้านตะวันตกของพระอุโบสถ ก่อสร้างขึ้นโดยพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว แทนการสร้างเจดีย์ โลหะปราสาทนี้ สร้างขึ้นตามประวัติพระพุทธศาสนา ถือโลหะปราสาทองค์ที่ 3 ของโลก โดยโลหะปราสาทหลังแรก สร้างขึ้นในสมัยพุทธกาลโดยนางวิสาขามหาอุบาสิกา บุตรีธนัญชัยเศรษฐีแห่งเมืองสาวัตถี เป็นปราสาท 2 ชั้น 1,000 ห้อง ยอดปราสาททำด้วยทองคำ ที่ชื่อว่า "มิคารมาตุปราสาท" ส่วนโลหะปราสาทหลังที่ 2 สร้างโดยพระเจ้าทุฏฐคามณี กษัตริย์แห่งกรุงอนุราธปุระลังกา ในราวปีพุทธศักราช 382 เป็นปราสาท 9 ชั้น 1,000 ห้อง มีความกว้างและความสูงแต่ละด้าน 100 ศอก หลังคามุงด้วยแผ่นทองแดง ผนังเป็นไม้ประดับด้วยหินมีค่าและงาช้าง

โลหะปราสาทวัดราชนัดดารามวรวิหาร มีลักษณะศิลปสถาปัตยกรรมไทยเป็นปราสาท 3 ชั้น มียอด 37 ยอด หมายถึงพระโพธิปักขิยธรรม 37 ประการ กลางปราสาทเป็นช่องกลวงจากฐานตลอดยอด มีซุงต้นใหญ่สูงถึงยอดปราสาทเป็นแกนกลาง เจาะลำต้นตอกเป็นบันไดเวียนขึ้น 67 ขั้น เริ่มก่อสร้างในปี พ.ศ. 2394 นับจากปีที่เริ่มก่อสร้างวัดราชนัดดารามได้ 5 ปี แต่ก่อสร้างสำเร็จเป็นเพียงปราสาทโกลน ก็สิ้นรัชกาล

ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไม่ปรากฏหลักฐานเกี่ยวกับการก่อสร้างโลหะปราสาท จนมารัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระประสิทธิ์สุตคุณ (แดง เขมทตฺโต) เจ้าอาวาส ได้ขอพระราชทานพระบรมราชานุญาต บูรณะปฏิสังขรณ์หลายครั้ง ตามแต่กำลังทุนทรัพย์ที่หาได้ โดยบูรณะตั้งแต่ชั้นบนลงมา คือ ทำพื้น ก่อมณฑปโบกปูนสีแดง ยกฉัตร ยอดเจดีย์ที่ชั้นบนสุดและชั้นที่ 2 ทั้งหมด ยังเหลือแต่ชั้นล่างสุดที่ไม่ได้บูรณะ

การบูรณะโลหะปราสาทครั้งใหญ่ ดำเนินการในสมัยพระราชปัญญาโสภณ (สุข ปุญญรํสี) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในปี พ.ศ. 2506 ทั้งนี้ได้พยายามรักษาแบบแผนดั้งเดิมของโลหะปราสาทในสมัยรัชกาลที่ 3 ไว้ให้มากที่สุด นับว่าโลหะปราสาทได้บูรณปฏิสังขรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ในครั้งนี้ โดยกรมโยธาเทศบาลเป็นผู้รับผิดชอบในครั้งนี้

เมื่อครั้งที่รัฐบาลจัดงานฉลองศิริราชสมบัติครบ 50 ปี ระหว่างปี พ.ศ. 2538-2539 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้กำหนดการพระราชพิธีบรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐาน ณ พระเจดีย์บุษบกโลหะปราสาทเป็นพระราชพิธีแรก แห่งการทรงบำเพ็ญพระราชกุศลและได้เสด็จพระราชดำเนินมาทรงประดิษฐานพระบรม สารีริกธาตุ เมื่อวันจันทร์ที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2538

สืบเนื่องจากวโรกาสดังกล่าว โครงการบูรณะโลหะปราสาทครั้งล่าสุดจึงได้เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2539 สาระสำคัญของโครงการนี้ประกอบด้วย งานบูรณปฏิสังขรณ์โลหะปราสาท เริ่มจากยอดมณฑปกลาง เปลี่ยนวัสดุมุงและเครื่องประดับหลังคาเป็นโลหะและทองแดงรมดำ โดยมีนาวาอากาศเอก อาวุธ เงินชูกลิ่น ศิลปินแห่งชาติเป็นสถาปนิก นายสุทิน เจริญสวัสดิ์ เป็นวิศวกรโยธา และ นายประพิศ แก้วสุริยาเป็นผู้ควบคุมงานก่อสร้าง