Powered By Blogger

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า เมืองไทย ....เลย


ในช่วงที่ ฝนตกกระหน่ำ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วม ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยันภาคใต้ ล้วนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ทำให้ประชาชนไทยได้รับความเดือดร้อน อย่างหนัก ภาครัฐและภาคประชาชน ต้องให้ความช่วยเหลือด่วน สงสารประชาชนที่บ้านไม่เคยถูกน้ำท่วม ก็ยังไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตที่ต้องผจญกับน้ำ จึงแลดูทุลักทุเล และน่าสงสารยิ่งนัก
สำหรับผมนั้น ชินกับน้ำเสียแล้วครับ ก็บ้านเกิดของผมที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีน่ะ น้ำท่วมนานปีหนึ่งนานถึงสามเดือนยังมีเลยครับ ไม่นับบางปีน้ำท่วมถึง 2 ครั้ง เรียกว่าเกิดมาก็เห็นน้ำท่วมทุกปี จนชิน และสามารถดำรงค์ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างเป็นปกติสุข จนบางปีฝนแล้งยังสงสัยเลยว่า ทำไมน้ำไม่ท่วมเสียทีนะ แต่พอน้ำท่วมจริง ๆก็ปาเข้าไปจนถึงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ผมอยู่เขามีทักษะในการหนีน้ำครับ เขาจะหนุนพื้นบ้านไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำจะลดลง
ทีนี้ทำไมผมถึงบอกว่า ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้าเมืองไทย เลย ก็ผมเพิ่งไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนามาที่จังหวัดกาญจนบุรีมาครับ ในขณะที่จังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ผจญปัญหาน้ำท่วม แต่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอทองผาภูมิ ไม่มีฝนครับ น้ำตกที่อยู่บริเวณวัดพุทโธพุเย มีน้ำแค่นี้เอง ทั้ง ๆ เป็นช่วงที่ต้องมีน้ำตกมากไหลแรงเต็มที่ ชาวบ้านแถวนั้นยังพูดเป็นเสียงเดียวเลยว่า ปีนี้ฝนน้อย ก็ดูภาพเถิดครับ ทุกปีน้ำเต็ม ไหลแรงมากกว่านี้ แบบนี้เรียกว่าฝนตกยังไม่ทั่วฟ้า เมืองไทย หรือยังครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โสดาบัน ไม่ยากอย่างที่คิด




เมื่อคราวที่ผม ไปปฏิบัติธรรมที่ ทีปภาวันธรรมสถาน เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ได้พูดคุยกับผู้มาปฏิบัติธรรมด้วย ท่านหนึ่ง ท่านนี้ จะเป็นแฟนพันธุ์แท้ ของการปฏิบัติ ที่สวนโมกข์ และทีปภาวันธรรมสถาน ท่านให้ข้อคิดไว้น่าสนใจมาก ผมฟังท่านออกไปพูดความรู้สึกในการมาปฏิบัติธรรมแล้วขนลุกเลย เพราะท่านนำสิ่งที่ได้ปฏิบัตินั้น ไปใช้ในชีวิตจริง ประจำวันของท่านด้วย แถมท่านยังแนะนำสิ่งดี ๆ กับคณะเราว่า " การปฎิบัติธรรมนั้นมันวัดผลกันตรงที่ว่าได้นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำ วัน เมื่อมาฝึกที่วัดแล้ว เวลาเอาไปใช้ตอนออกวัด ต้องหมั่นทำในรูปแบบด้วย คือนั่งสมาธิ และ เดินจงกลม เพราะ จิตจะได้มีกำลัง เมื่อจิตมีกำลัง ก็จะเห็นทุกอย่างตามที่เป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ เกิดการปล่อยวางได้ ถ้าไม่ทำในรูปแบบทุกวัน จิตจะอ่อนกำลังลง สติไม่ทันกิเลส กิเลสมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกวัน เรื่องของปัญญาไม่ต้องพูดถึงไม่มาแน่ สุดท้ายถูกกิเลสเข้าครอบงำ การเข้าถึง มรรคผล นั้นจะเลือนลางลงเรื่อยๆครับ " นั่นคือสิ่งที่ท่านกล่าวไว้วันเปิดใจ ที่ ทีปภาวันธรรมสถาน

ท่านยังกล่าวต่ออย่างน่าฟัง น่าปฏิบัติตาม ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา ไม่โลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น แล้วไม่ดับ เมื่อมันเกิดแล้วมันตัองดับ อาจจะช้าหรือเร็วแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่มีสิ่งเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ นั่นคือพระนิพพาน นิพพานไม่มีการเกิด จึงไม่มีการดับ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มันมีอยู่ก่อนแล้ว และจะมีตลอดไป นิพพานไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร นิพพานมี มีความไม่มีอะไร ฟังยากนิดนึงครับ ถ้าเข้าถึงโสดาบัน จะได้สัมผัสนิพพานของจริง ตอนที่เกิดกระบวนการที่จิตตัดสังโยชน์ สามตัวแรก กินเวลาประมาณหนึ่งนาที จะเกิดการสลัดกายและใจ คืนโลกไป จะพบความว่าง ที่เรียกว่านิพพาน กายและใจจะเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ เช่นภูเขา ท้องฟ้า เป็นสิ่งเดียวกัน แต่เรียกชื่อไม่เหมือนกัน หลังจากนั้นจิตจะออกจากอัปนาสมาธิเอง โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นจะสามารถนมัสสิการถึงพระ นิพพานได้ตามใจปรารถนา เพราะได้รู้จักนิพพานของแท้แล้ว ซึ่งคุณสมบัตินี้ปุถุชน และหรือ ปุถุชนที่ทรงฌานโลกีย์ จะทำไม่ได้เพราะไม่เคยได้ลิ้มรส นิพพานของแท้ครับ

ท่านทิ้งท้ายในการปฏิบัติส่วนตัวอย่างน่าฟังว่า "ผมเองก็ไม่เดือดร้อน ตอนนี้ผมต้องใช้กรรมฐานเสริม เนื่องจาก กามเป็นกิเลสที่มีกำลังกล้า นอกจากทำในรูปแบบแล้ว กรรมฐานเสริมที่อาจารย์โพธิ์แนะนำคือ
กรรมฐานดินเหนียว ท่านสอนเป็นการส่วนตัวว่าเมื่อเจอหญิงงาม ให้พิจารณาว่าหญิงงามนั้นเปรียบ
เหมือนมาจากดิน เดิมที่อยู่กับพื้นมันก็ไม่มีราคา ไม่มีอะไร พอปั้นขึ้นเป็นตัวขึ้นมาและเคลื่อนไหวได้
เราก็มีราคะ เนี่ยเป็นการปรุงแต่ง ให้ทำบ่อยๆ หรือเหมือนกับกระดาษเปล่า เรามองไม่มีอะไร พอเอาปากกาวาดเป็นหญิงงามขึ้น จิตก็มีราคะ เนี่ยการปรุงแต่ง ผมได้ประโยชน์มาก ก้าวหน้าเป็นลำดับ กามเป็นของร้อน นิพพานเป็นของเย็น พระพุทธองค์ตรัสว่า กามมีรสอร่อยน้อย แต่มีโทษมากปัจจุบัน เลยตั้งเป้าขอเข้าถึงอนาคามี เป็นอย่างน้อยในชาตินี้ครับ ผมโชคดีที่แฟนเข้าใจ การปฎิบัติจึงสะดวก ไม่เกิดปัญหา

อีกเทคนิกที่ผมใช้ คือ 1. พิจารณา อสุภกรรมฐานในฌานสี่ เพื่อลดกำลังของ ราคะ 2. เพ่งกระดูกตัวเอง จนใส ในฌานสี่ เพื่อเป็นกำลังใจในเรื่องของจิตที่ขาวรอบ บริสุทธิ์ ไม่มีราคะเข้ากวน ตอนนี้ได้อะไรดีๆมา ต่อกรกับกาม ต้องเอาหมด จึงจะยันกันอยู่ครับ

ส่วนเรื่องความโกรธ ผมไม่ค่อยมีปัญหา อันนี้น่าจะผ่านไปได้ไม่ยากครับ แค่ทำในรูปแบบ ก็มีกำลังพอที่จะต่อสู้ได้ไม่ยากครับ


วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทีปภาวันธรรมสถาน











เมื่อหลายวันก่อน มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติธรรม ตามโครงการอบรมพัฒนาจิต ครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตร " ตามหาแก่นธรรมของสวนโมกข์ " ระหว่างวันที่ 12 - 17 ตุลาคม 2553 ณ ทีปภาวันธรรมสถาน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจัดโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย จาก บริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัดมหาชน

จากนครปฐม สู่สวนโมกขพลารามหรือที่เรียกว่าวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีนั้น คณะทั้งหมด 82 ชีวิต ก็เป็นครูผู้ใกล้ชิดธรรมเป็นส่วนใหญ่ จากหลากหลายโรงเรียนใน สพป.นฐ 2 และ สพป.รบ 2 (ราชบุรี เขต 2) อีกทั้ง สพป.สพ 3(สุพรรณบุรีเขต 3) ศึกษาวิถีชีวิตของชาวสวนโมกข์ ฯ และรับประทานอาหารกลางวันที่นี่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังที่เรือเพื่อข้ามฟากไปยังเกาะสมุย ณ ทีปภาวันธรรมสถาน ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลายคนถามว่าทำไมต้องมาปฏิบัติธรรมที่นี่ด้วย คำตอบมีอยู่มากมากมาย เช่น ก็ไปมาหลายที่ ต้องการเปลี่ยนที่บ้าง ต้องการสร้างสี่งดี ๆ ให้ชีวิตหลังจากเครียดจากการทำงานมาทั้งปีด้วยการมาปฏิบัติธรรม ต้องการมาสมุย เพราะไม่เคยมา ต้องการศึกษาธรรมตามแนวทางของท่านพุทธทาสเพราะเพียงแต่หนังสือก็เข้าใจแบบผิวเผินเท่านนั้น และอีกร้อยแปดความต้องการ จึงชักชวนผู้ที่มีจริตใกล้เคียงกัน คือคอธรรมด้วยกันมาที่สมุยนี่ โดยสมัครผ่านศึกษานิเทศก์สมชาย พูลศรี ของสพป.นฐ 2 ที่ ทีปภาวนธรรมสถานนี้ เป็นส่วนที่ท่านพระภาวนาโพธิคุณ พวกชาวบ้านเรียกท่านว่าอาจารย์โพธิ์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสสวนโมกขพลาราม(วัดธารน้ำไหล) ท่านเล่าว่า่ ท่านเป็นชาวสมุยอยากเห็นคนที่สมุยมีแหล่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ลุ่มหลงกับกระแสร์โลกาภิวัฒน์ที่ชาวต่างชาติหยิบยื่นให้ ท่านต้องการตอบแทนถิ่นบ้านเกิด โดยมีสถานที่ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก โดยมีแบบอย่างการเดินทางธรรมอย่างท่านพุทธทาส

กิจกรรมของที่ ทีปภาวันธรรมสถาน มีหลายกิจกรรม เช่น วันที่คณะเรามา วันที่12 -17 ของเดือนเป็นกิจกรรม "หาสุขได้จากทุกข์ " สำหรับคนไทย และวันที่ 20 - 25 ของทุกเดือน เป็นกิจกรรมหาสุขได้จากทุกข์เช่นกัน แต่เป็นกิจกรรมสำหรับชาวต่างประเทศ ที่สนใจมาปฏิบัติกิจกรรม กิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ เยาวชนกิจกรรมเช่นเดียวกัน ก็มี และยังขยายสถานที่ ไปยังสวนธรรมเภรี สำหรับเด็กนักเรียนและผู้สนใจอื่น ปฏิบัติแบบวันเดียว หรือกิจกรรมวันพระ ซึ่งท่านพระอาจารย์โพธิ์ ท่านเป็นผู้ดูแลการจัดกิจกรรมและบรรยายธรรมเอง เห็นแล้วปลื้มใจ สำหรับกิจกรรมประจำวันก็เหมือน ๆ กับที่อื่น ๆ ที่แปลกไปคือ ฟังธรรมของท่านพุทธทาสจาก แผ่น cd. แล้วปฏิบัติตาม หัวใจคือ หากไม่ตั้งใจฟังก็จะปฏิบัติไม่ถูก อันนี้ดี ทำให้ผู้ปฏิบัติมีสมาธิจดจ่อต่อการฟัง เพื่อนำมาปฏิบัติ เหมือนได้ฟังจากปากท่านพุทธทาสเอง กิจกรรมออกกำลังกายก็เป็นแบบฉบับของสวนโมกขพลาราม แต่ละวันมีวิทยากรที่มาจากสวมโมกข์ ฯ มาให้ความรู้ ทำให้กิจกรรมน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เคยปฏิบัติก็ได้รู้และได้ปฏิบัติ

สิ่งที่ได้ และแปลกไม่เหมือนที่ใด มีหลายเรื่อง เช่น
1. ไม่ต้องขอศีล 5 หรือศีล 8 มีหลายคนสงสัยถามว่าทำไมไม่ให้ศีล หรือไม่ขอศีลจะได้ปฏิบัติ พระท่านบอกว่า ที่ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมนั้น ท่านมีศีลอยู่แล้ว ท่านตั้งใจมาแล้ว จะมาขอพระอีกทำไม เมื่อได้ฟังแล้ว โดนใจมาก ๆ คือที่มานั้นทุกคนมีศีลอยู่ในใจแล้วไม่ต้องขอ จากพระให้มากเรื่อง มากพิธี ขอให้ปฏิบัติให้ได้ตามที่ตั้งใจเท่านั้นแหละ ท่านบอกว่าไม่ต้องมีพิธีกรรมตัวเราเท่านั้นที่รู้ว่าเรารักษาศีลได้อย่างไร เรื่องนี้ประทับใจมาก
2. การอยู่อย่างมีสติ ทุกอริยาบถต้องมีสติ ไม่ว่าจะเดิน จะนั่ง นอน จะทำกิจกรรมใดต้องทำด้วยสติ เพราะสภาพภูมิประเทศของ ทีปภาวันเป็นเขา การเดินขึ้นลงจากที่ปฏิบัติธรรมมาที่พัก มาทานอาหารที่ศาลา ยังเบื้องล่างทำให้ทุกก้า้วย่างต้องมั่นคง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการเดินขึ้น ลง เขาได้ ที่สำคัญมีสัตว์ และแมลงชุกชุม ต้องระมัดระวังทุกก้าวย่างดังกล่าว
3. มิตรภาพจากเพื่อนสมาชิกที่มาจากต่างสถานที่ ที่มีจิตใจ ใคร่ในธรรมเหมือนกัน หลากหลายอาชีพ ทั้งครู ผู้ปกครอง พ่อค้าแม่ค้า นักเรียน แพทย์ ตำรวจ ทำให้ได้เพื่อนเพื่อสนทนาธรรมได้กว้างขวางขึ้น
4. เปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ ทำให้ทราบว่า แม้ชายทะเล ป่า เขา ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ จึงสรุปเป็นสัจธรรมของตนเองว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ หากจิตใจสงบ เราสามารถพบทางออกได้เสมอ ไม่ว่าจะมีปัญหาใด ๆ ถาโถมเข้ามาในชีวิตก็ตาม
5. การละวาง หมายถึง การละปล่อย หัวโขน ที่สังคมสมมติขึ้นมา ให้เราเป็นนั่น เป็นนี่ มาเป็นเพียงคนธรรมดา ติดดิน เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นกู ของกู เป็นต้น
6. ได้แง่คิดจากหลายนิกาย เช่นนิกายเช็น เป็นต้น ว่าสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาจิต ในการดำเนินชีวิตได้เหมือนกัน

ท่านล่ะครับ เคยไปปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวันธรรมสถานมาบ้างหรือยัง หากยังผมเชิญชวนนะครับว่าลองไปดูซิครับ อากาศบนยอดเขาเย็นสบาย บรรยากาศดี ไปมาแล้วไม่อยากกลับยากปฏิบัติต่อ
ตลอดการปฏิบัติกิจกรรม แม้ไม่ได้รับศีล 8 จากพระ แต่ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่ต้องคอยระวังว่าจะผิดศีลที่รับไว้จากพระ ครั้งนี้ตัวเราตั้งใจปฏิบัติเอง ไม่คิดอยากหนีไปเที่ยวชายหาด ไม่คิดอยากทำในสิ่งที่เป็นข้อละเว้นจากศีลที่ปฏิบัติ ใจไม่คิดวอกแวกในเรื่องอบายทั้งหลาย คิดว่ามาปฏิบัติกิจกรรมครั้งนี้ ตัวเองได้รับกุศลที่ปฏิบัติมาก การแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลก็ปฏิบัติได้ด้วยความตั้งใจ ขอบคุณบริษัทซี.พี.ออลล์ จำกัด ขอบคุณท่าน ศน.สมชาย พูลศรี ผู้นำคณะสู่ประตูธรรมในครั้งนี้ ขอให้ท่านเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเทอญ