Powered By Blogger

หน้าเว็บ

วันอังคารที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้า เมืองไทย ....เลย


ในช่วงที่ ฝนตกกระหน่ำ ตั้งแต่เดือน ตุลาคม ถึงเดือนพฤศจิกายน 2553 ที่ผ่านมา ทำให้น้ำท่วม ตั้งแต่ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ยันภาคใต้ ล้วนเจิ่งนองไปด้วยน้ำ ทำให้ประชาชนไทยได้รับความเดือดร้อน อย่างหนัก ภาครัฐและภาคประชาชน ต้องให้ความช่วยเหลือด่วน สงสารประชาชนที่บ้านไม่เคยถูกน้ำท่วม ก็ยังไม่มีทักษะในการใช้ชีวิตที่ต้องผจญกับน้ำ จึงแลดูทุลักทุเล และน่าสงสารยิ่งนัก
สำหรับผมนั้น ชินกับน้ำเสียแล้วครับ ก็บ้านเกิดของผมที่อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรีน่ะ น้ำท่วมนานปีหนึ่งนานถึงสามเดือนยังมีเลยครับ ไม่นับบางปีน้ำท่วมถึง 2 ครั้ง เรียกว่าเกิดมาก็เห็นน้ำท่วมทุกปี จนชิน และสามารถดำรงค์ชีวิตอยู่กับน้ำอย่างเป็นปกติสุข จนบางปีฝนแล้งยังสงสัยเลยว่า ทำไมน้ำไม่ท่วมเสียทีนะ แต่พอน้ำท่วมจริง ๆก็ปาเข้าไปจนถึงพื้นบ้าน ชาวบ้านที่ผมอยู่เขามีทักษะในการหนีน้ำครับ เขาจะหนุนพื้นบ้านไปเรื่อย ๆ จนกว่าน้ำจะลดลง
ทีนี้ทำไมผมถึงบอกว่า ฝนยังตกไม่ทั่วฟ้าเมืองไทย เลย ก็ผมเพิ่งไปร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับพุทธศาสนามาที่จังหวัดกาญจนบุรีมาครับ ในขณะที่จังหวัดที่กล่าวมาแล้ว ผจญปัญหาน้ำท่วม แต่ที่จังหวัดกาญจนบุรี เขตอำเภอทองผาภูมิ ไม่มีฝนครับ น้ำตกที่อยู่บริเวณวัดพุทโธพุเย มีน้ำแค่นี้เอง ทั้ง ๆ เป็นช่วงที่ต้องมีน้ำตกมากไหลแรงเต็มที่ ชาวบ้านแถวนั้นยังพูดเป็นเสียงเดียวเลยว่า ปีนี้ฝนน้อย ก็ดูภาพเถิดครับ ทุกปีน้ำเต็ม ไหลแรงมากกว่านี้ แบบนี้เรียกว่าฝนตกยังไม่ทั่วฟ้า เมืองไทย หรือยังครับ

วันอาทิตย์ที่ 14 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

โสดาบัน ไม่ยากอย่างที่คิด




เมื่อคราวที่ผม ไปปฏิบัติธรรมที่ ทีปภาวันธรรมสถาน เกาะสมุย สุราษฎร์ธานี ได้พูดคุยกับผู้มาปฏิบัติธรรมด้วย ท่านหนึ่ง ท่านนี้ จะเป็นแฟนพันธุ์แท้ ของการปฏิบัติ ที่สวนโมกข์ และทีปภาวันธรรมสถาน ท่านให้ข้อคิดไว้น่าสนใจมาก ผมฟังท่านออกไปพูดความรู้สึกในการมาปฏิบัติธรรมแล้วขนลุกเลย เพราะท่านนำสิ่งที่ได้ปฏิบัตินั้น ไปใช้ในชีวิตจริง ประจำวันของท่านด้วย แถมท่านยังแนะนำสิ่งดี ๆ กับคณะเราว่า " การปฎิบัติธรรมนั้นมันวัดผลกันตรงที่ว่าได้นำไปใช้ได้ในชีวิตประจำ วัน เมื่อมาฝึกที่วัดแล้ว เวลาเอาไปใช้ตอนออกวัด ต้องหมั่นทำในรูปแบบด้วย คือนั่งสมาธิ และ เดินจงกลม เพราะ จิตจะได้มีกำลัง เมื่อจิตมีกำลัง ก็จะเห็นทุกอย่างตามที่เป็นจริง คือเห็นไตรลักษณ์ เกิดการปล่อยวางได้ ถ้าไม่ทำในรูปแบบทุกวัน จิตจะอ่อนกำลังลง สติไม่ทันกิเลส กิเลสมีกำลังกล้าแข็งขึ้นทุกวัน เรื่องของปัญญาไม่ต้องพูดถึงไม่มาแน่ สุดท้ายถูกกิเลสเข้าครอบงำ การเข้าถึง มรรคผล นั้นจะเลือนลางลงเรื่อยๆครับ " นั่นคือสิ่งที่ท่านกล่าวไว้วันเปิดใจ ที่ ทีปภาวันธรรมสถาน

ท่านยังกล่าวต่ออย่างน่าฟัง น่าปฏิบัติตาม ว่า "สิ่งใดเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา ไม่โลกนี้ไม่มีสิ่งใดที่เกิดขึ้น แล้วไม่ดับ เมื่อมันเกิดแล้วมันตัองดับ อาจจะช้าหรือเร็วแล้วแต่เหตุปัจจัย แต่มีสิ่งเดียวที่ไม่เกิดไม่ดับ นั่นคือพระนิพพาน นิพพานไม่มีการเกิด จึงไม่มีการดับ มันมีของมันอยู่อย่างนั้น เป็นธรรมชาติอยู่อย่างนั้น มันมีอยู่ก่อนแล้ว และจะมีตลอดไป นิพพานไม่ใช่ว่าไม่มีอะไร นิพพานมี มีความไม่มีอะไร ฟังยากนิดนึงครับ ถ้าเข้าถึงโสดาบัน จะได้สัมผัสนิพพานของจริง ตอนที่เกิดกระบวนการที่จิตตัดสังโยชน์ สามตัวแรก กินเวลาประมาณหนึ่งนาที จะเกิดการสลัดกายและใจ คืนโลกไป จะพบความว่าง ที่เรียกว่านิพพาน กายและใจจะเป็นเนื้อเดียวกับธรรมชาติ เช่นภูเขา ท้องฟ้า เป็นสิ่งเดียวกัน แต่เรียกชื่อไม่เหมือนกัน หลังจากนั้นจิตจะออกจากอัปนาสมาธิเอง โดยอัตโนมัติ หลังจากนั้นจะสามารถนมัสสิการถึงพระ นิพพานได้ตามใจปรารถนา เพราะได้รู้จักนิพพานของแท้แล้ว ซึ่งคุณสมบัตินี้ปุถุชน และหรือ ปุถุชนที่ทรงฌานโลกีย์ จะทำไม่ได้เพราะไม่เคยได้ลิ้มรส นิพพานของแท้ครับ

ท่านทิ้งท้ายในการปฏิบัติส่วนตัวอย่างน่าฟังว่า "ผมเองก็ไม่เดือดร้อน ตอนนี้ผมต้องใช้กรรมฐานเสริม เนื่องจาก กามเป็นกิเลสที่มีกำลังกล้า นอกจากทำในรูปแบบแล้ว กรรมฐานเสริมที่อาจารย์โพธิ์แนะนำคือ
กรรมฐานดินเหนียว ท่านสอนเป็นการส่วนตัวว่าเมื่อเจอหญิงงาม ให้พิจารณาว่าหญิงงามนั้นเปรียบ
เหมือนมาจากดิน เดิมที่อยู่กับพื้นมันก็ไม่มีราคา ไม่มีอะไร พอปั้นขึ้นเป็นตัวขึ้นมาและเคลื่อนไหวได้
เราก็มีราคะ เนี่ยเป็นการปรุงแต่ง ให้ทำบ่อยๆ หรือเหมือนกับกระดาษเปล่า เรามองไม่มีอะไร พอเอาปากกาวาดเป็นหญิงงามขึ้น จิตก็มีราคะ เนี่ยการปรุงแต่ง ผมได้ประโยชน์มาก ก้าวหน้าเป็นลำดับ กามเป็นของร้อน นิพพานเป็นของเย็น พระพุทธองค์ตรัสว่า กามมีรสอร่อยน้อย แต่มีโทษมากปัจจุบัน เลยตั้งเป้าขอเข้าถึงอนาคามี เป็นอย่างน้อยในชาตินี้ครับ ผมโชคดีที่แฟนเข้าใจ การปฎิบัติจึงสะดวก ไม่เกิดปัญหา

อีกเทคนิกที่ผมใช้ คือ 1. พิจารณา อสุภกรรมฐานในฌานสี่ เพื่อลดกำลังของ ราคะ 2. เพ่งกระดูกตัวเอง จนใส ในฌานสี่ เพื่อเป็นกำลังใจในเรื่องของจิตที่ขาวรอบ บริสุทธิ์ ไม่มีราคะเข้ากวน ตอนนี้ได้อะไรดีๆมา ต่อกรกับกาม ต้องเอาหมด จึงจะยันกันอยู่ครับ

ส่วนเรื่องความโกรธ ผมไม่ค่อยมีปัญหา อันนี้น่าจะผ่านไปได้ไม่ยากครับ แค่ทำในรูปแบบ ก็มีกำลังพอที่จะต่อสู้ได้ไม่ยากครับ


วันจันทร์ที่ 1 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ทีปภาวันธรรมสถาน











เมื่อหลายวันก่อน มีโอกาสไปร่วมปฏิบัติธรรม ตามโครงการอบรมพัฒนาจิต ครูผู้สอนวิชาพระพุทธศาสนา หลักสูตร " ตามหาแก่นธรรมของสวนโมกข์ " ระหว่างวันที่ 12 - 17 ตุลาคม 2553 ณ ทีปภาวันธรรมสถาน อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี ซึ่งจัดโดย สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครปฐม เขต 2 โดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณค่าใช้จ่าย จาก บริษัท ซี.พี.ออลล์ จำกัดมหาชน

จากนครปฐม สู่สวนโมกขพลารามหรือที่เรียกว่าวัดธารน้ำไหล อ.ไชยา จ.สุราษฎร์ธานีนั้น คณะทั้งหมด 82 ชีวิต ก็เป็นครูผู้ใกล้ชิดธรรมเป็นส่วนใหญ่ จากหลากหลายโรงเรียนใน สพป.นฐ 2 และ สพป.รบ 2 (ราชบุรี เขต 2) อีกทั้ง สพป.สพ 3(สุพรรณบุรีเขต 3) ศึกษาวิถีชีวิตของชาวสวนโมกข์ ฯ และรับประทานอาหารกลางวันที่นี่ จากนั้นเดินทางต่อไปยังที่เรือเพื่อข้ามฟากไปยังเกาะสมุย ณ ทีปภาวันธรรมสถาน ซึ่งตั้งอยู่ หมู่ที่ 1 ต.มะเร็ต อ.เกาะสมุย จ.สุราษฎร์ธานี หลายคนถามว่าทำไมต้องมาปฏิบัติธรรมที่นี่ด้วย คำตอบมีอยู่มากมากมาย เช่น ก็ไปมาหลายที่ ต้องการเปลี่ยนที่บ้าง ต้องการสร้างสี่งดี ๆ ให้ชีวิตหลังจากเครียดจากการทำงานมาทั้งปีด้วยการมาปฏิบัติธรรม ต้องการมาสมุย เพราะไม่เคยมา ต้องการศึกษาธรรมตามแนวทางของท่านพุทธทาสเพราะเพียงแต่หนังสือก็เข้าใจแบบผิวเผินเท่านนั้น และอีกร้อยแปดความต้องการ จึงชักชวนผู้ที่มีจริตใกล้เคียงกัน คือคอธรรมด้วยกันมาที่สมุยนี่ โดยสมัครผ่านศึกษานิเทศก์สมชาย พูลศรี ของสพป.นฐ 2 ที่ ทีปภาวนธรรมสถานนี้ เป็นส่วนที่ท่านพระภาวนาโพธิคุณ พวกชาวบ้านเรียกท่านว่าอาจารย์โพธิ์ ท่านเป็นเจ้าอาวาสสวนโมกขพลาราม(วัดธารน้ำไหล) ท่านเล่าว่า่ ท่านเป็นชาวสมุยอยากเห็นคนที่สมุยมีแหล่งที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ ไม่ลุ่มหลงกับกระแสร์โลกาภิวัฒน์ที่ชาวต่างชาติหยิบยื่นให้ ท่านต้องการตอบแทนถิ่นบ้านเกิด โดยมีสถานที่ปฏิบัติธรรมตามหลักพระพุทธศาสนาที่รวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก โดยมีแบบอย่างการเดินทางธรรมอย่างท่านพุทธทาส

กิจกรรมของที่ ทีปภาวันธรรมสถาน มีหลายกิจกรรม เช่น วันที่คณะเรามา วันที่12 -17 ของเดือนเป็นกิจกรรม "หาสุขได้จากทุกข์ " สำหรับคนไทย และวันที่ 20 - 25 ของทุกเดือน เป็นกิจกรรมหาสุขได้จากทุกข์เช่นกัน แต่เป็นกิจกรรมสำหรับชาวต่างประเทศ ที่สนใจมาปฏิบัติกิจกรรม กิจกรรมสำหรับเด็ก ๆ เยาวชนกิจกรรมเช่นเดียวกัน ก็มี และยังขยายสถานที่ ไปยังสวนธรรมเภรี สำหรับเด็กนักเรียนและผู้สนใจอื่น ปฏิบัติแบบวันเดียว หรือกิจกรรมวันพระ ซึ่งท่านพระอาจารย์โพธิ์ ท่านเป็นผู้ดูแลการจัดกิจกรรมและบรรยายธรรมเอง เห็นแล้วปลื้มใจ สำหรับกิจกรรมประจำวันก็เหมือน ๆ กับที่อื่น ๆ ที่แปลกไปคือ ฟังธรรมของท่านพุทธทาสจาก แผ่น cd. แล้วปฏิบัติตาม หัวใจคือ หากไม่ตั้งใจฟังก็จะปฏิบัติไม่ถูก อันนี้ดี ทำให้ผู้ปฏิบัติมีสมาธิจดจ่อต่อการฟัง เพื่อนำมาปฏิบัติ เหมือนได้ฟังจากปากท่านพุทธทาสเอง กิจกรรมออกกำลังกายก็เป็นแบบฉบับของสวนโมกขพลาราม แต่ละวันมีวิทยากรที่มาจากสวมโมกข์ ฯ มาให้ความรู้ ทำให้กิจกรรมน่าสนใจมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ยังไม่รู้ไม่เคยปฏิบัติก็ได้รู้และได้ปฏิบัติ

สิ่งที่ได้ และแปลกไม่เหมือนที่ใด มีหลายเรื่อง เช่น
1. ไม่ต้องขอศีล 5 หรือศีล 8 มีหลายคนสงสัยถามว่าทำไมไม่ให้ศีล หรือไม่ขอศีลจะได้ปฏิบัติ พระท่านบอกว่า ที่ญาติโยมมาปฏิบัติธรรมนั้น ท่านมีศีลอยู่แล้ว ท่านตั้งใจมาแล้ว จะมาขอพระอีกทำไม เมื่อได้ฟังแล้ว โดนใจมาก ๆ คือที่มานั้นทุกคนมีศีลอยู่ในใจแล้วไม่ต้องขอ จากพระให้มากเรื่อง มากพิธี ขอให้ปฏิบัติให้ได้ตามที่ตั้งใจเท่านั้นแหละ ท่านบอกว่าไม่ต้องมีพิธีกรรมตัวเราเท่านั้นที่รู้ว่าเรารักษาศีลได้อย่างไร เรื่องนี้ประทับใจมาก
2. การอยู่อย่างมีสติ ทุกอริยาบถต้องมีสติ ไม่ว่าจะเดิน จะนั่ง นอน จะทำกิจกรรมใดต้องทำด้วยสติ เพราะสภาพภูมิประเทศของ ทีปภาวันเป็นเขา การเดินขึ้นลงจากที่ปฏิบัติธรรมมาที่พัก มาทานอาหารที่ศาลา ยังเบื้องล่างทำให้ทุกก้า้วย่างต้องมั่นคง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุจากการเดินขึ้น ลง เขาได้ ที่สำคัญมีสัตว์ และแมลงชุกชุม ต้องระมัดระวังทุกก้าวย่างดังกล่าว
3. มิตรภาพจากเพื่อนสมาชิกที่มาจากต่างสถานที่ ที่มีจิตใจ ใคร่ในธรรมเหมือนกัน หลากหลายอาชีพ ทั้งครู ผู้ปกครอง พ่อค้าแม่ค้า นักเรียน แพทย์ ตำรวจ ทำให้ได้เพื่อนเพื่อสนทนาธรรมได้กว้างขวางขึ้น
4. เปิดโลกทัศน์แห่งการเรียนรู้ ทำให้ทราบว่า แม้ชายทะเล ป่า เขา ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ จึงสรุปเป็นสัจธรรมของตนเองว่า ไม่ว่าจะอยู่ในสภาพใด ก็สามารถปฏิบัติธรรมได้ หากจิตใจสงบ เราสามารถพบทางออกได้เสมอ ไม่ว่าจะมีปัญหาใด ๆ ถาโถมเข้ามาในชีวิตก็ตาม
5. การละวาง หมายถึง การละปล่อย หัวโขน ที่สังคมสมมติขึ้นมา ให้เราเป็นนั่น เป็นนี่ มาเป็นเพียงคนธรรมดา ติดดิน เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ยึดมั่นถือมั่น เป็นกู ของกู เป็นต้น
6. ได้แง่คิดจากหลายนิกาย เช่นนิกายเช็น เป็นต้น ว่าสามารถนำมาใช้ในการพัฒนาจิต ในการดำเนินชีวิตได้เหมือนกัน

ท่านล่ะครับ เคยไปปฏิบัติธรรมที่ทีปภาวันธรรมสถานมาบ้างหรือยัง หากยังผมเชิญชวนนะครับว่าลองไปดูซิครับ อากาศบนยอดเขาเย็นสบาย บรรยากาศดี ไปมาแล้วไม่อยากกลับยากปฏิบัติต่อ
ตลอดการปฏิบัติกิจกรรม แม้ไม่ได้รับศีล 8 จากพระ แต่ก็สามารถปฏิบัติได้อย่างไม่มีขาดตกบกพร่อง ไม่ต้องคอยระวังว่าจะผิดศีลที่รับไว้จากพระ ครั้งนี้ตัวเราตั้งใจปฏิบัติเอง ไม่คิดอยากหนีไปเที่ยวชายหาด ไม่คิดอยากทำในสิ่งที่เป็นข้อละเว้นจากศีลที่ปฏิบัติ ใจไม่คิดวอกแวกในเรื่องอบายทั้งหลาย คิดว่ามาปฏิบัติกิจกรรมครั้งนี้ ตัวเองได้รับกุศลที่ปฏิบัติมาก การแผ่เมตตาอุทิศส่วนกุศลก็ปฏิบัติได้ด้วยความตั้งใจ ขอบคุณบริษัทซี.พี.ออลล์ จำกัด ขอบคุณท่าน ศน.สมชาย พูลศรี ผู้นำคณะสู่ประตูธรรมในครั้งนี้ ขอให้ท่านเจริญยิ่ง ๆ ขึ้นไปเทอญ

วันพุธที่ 20 ตุลาคม พ.ศ. 2553

วันอังคารที่ 7 กันยายน พ.ศ. 2553

เมื่อครูไทย ไปรัฐสภา











รัฐบาลมีนโยบายในการสร้างภาคีเครือข่าย ในการปกครองระบอบประชาธิปไตยให้กับข้าราชการโดยกำหนดให้ผู้บริหารโรงเรียนทั่วประเทศ เข้าไปร่วมสัมมนา การจัดกิจกรรมภายใต้โครงการที่ชื่อว่า "การเสริมสร้างและเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในทางการเมืองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุขแก่ผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน " รุ่นนี้ มากัน 11 จังหวัด คือสุโขทัย,อุตรดิตถ์,เลย,หนองคาย,อุดร,หนองบัวลำภู,นครปฐม,สุพรรณบุรี,ราชบุรี,สุราษฎร์ธานี,นครศรีธรรมราช เป็นรุ่นที่ 26 ก็ประมาณ เกือบ 700 คน วิธีดำเนินการสัมมนา ก็น่าสนใจ โดยการเชิญ ส.ส.ทั้งฝ่ายรัฐบาล และ ฝ่ายค้าน ตลอดจน ส.ว. มาร่วมอภิปราย ตามหัวข้อที่กำหนดให้ และเปิดโอกาสให้บรรดาผู้บริหารสถานศึกษาทั้ง 11 จังหวัด ได้มีโอกาสซักถามและอภิปราย โดยบรรยากาศต้องให้เหมือนเวทีที่ ส.ส. ประชุมสภา อย่างไงอย่างงั้นเลย

ตามความคิดของผมแล้ว ผมว่าการมาครั้งนี้ คุ้มค่ามาก ได้เห็นเวทีแห่งรัฐสภาจริง บรรยากาศเสมือนการประชุมส.ส.จริง ซักถามกันอย่างเผ็ดมัน แต่ที่สำคัญคือ ได้เพื่อนครับ ก็เพื่อนมากันตั้ง 11 จังหวัด และ เกือบ 700 คน ส่วนใหญ่ทุกคนตั้งใจมา และเพื่อน ๆ ที่อยู่ไกลก็นั่งรถนานหน่อย ค้างคืนกันบนรถ มาถึงรัฐสภาแต่เช้า แถมยังเข้ารัฐสภาไม่ได้อีก พอถึงเวลาอภิปรายก็มีการเหน็บแนม ว่าพวกครูเข้ารัฐสภาตรงเวลา แต่ส.ส.ที่ประชาชนเลือกเข้ามา ทำไมเข้าสภาช้ามาก ๆ ไม่ตรงเวลาเสียเลย เล่นเอาได้เสียงฮาใหญ่ได้เวลากลับเวทีสัมมนาก็ยุติได้ ตรงเวลา เพราะเห็นใจบรรดาผู้บริหารที่อยู่ไกล ๆ แถมพกด้วยอาหารว่างเอาไปทานบนรถด้วย

ข้อซักถามของสมาชิก นัยว่า จะนำเสนอรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อแก้ไขตามคำเรียกร้อง ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง ที่รัฐบาลจัดกิจกรรมนี้ อย่างน้อยทำให้ระลึกถึงว่าองค์พระปกเกล้า ท่านสละพระราชอำนาจเพื่อปวงชนชาวไทย มิใช่ให้ให้คนใดคนหนึ่ง ซึ่งผมได้ถ่ายพระราชหัตถเลขาของมาพระองค์มาไว้แล้วละครับ

วันพฤหัสบดีที่ 2 กันยายน พ.ศ. 2553

เที่ยวงาน otop midyear 2010 (ครั้งที่ 2)






เมื่อปีที่แล้ว ผมได้มาเที่ยวงาน otop midyear 2009 ถึง 2 วัน ติดใจครับ ก็เขาตั้งใจนำสินค้า ที่ได้รับการคัดสรร มาแสดงและจำหน่ายกัน ทั้งที ผมในฐานะพลเมืองดีก็ไปสนับสนุนเป็นธรรมดาครับ

สำหรับงาน otop midyear 2010 ปีนี้ ผมก็ต้องมา ตามที่ใจปรารถนา มาปีนี้ มีสมาชิกติดตามหลายคน วันว่างที่สุดก็คือวันสุดท้ายของงาน คือวันที่ 29 สิงหาคม 2553 แล้วละครับ คนเย๊อะมากครับ สินค้าก็ลดกระหน่ำในชั่วโมงนาทีทอง ร้านแรกที่ผมหมายตาไว้ว่าต้องซื้อของติดมือกลับบ้านให้ได้ คือ ชาครับ เพราะผมนิยมชมชอบชา เพราะเพียงดื่มชาเพื่อสุขภาพครับ ก็อายุมากแล้วนี่ครับ ก็ต้องเลือกนะครับ บางร้านก็ขอแค่ราคาทุน เพราะไม่ต้องการขนของกลับบ้าน บางร้านก็ยังใจแข็งไม่ยอมลดราคา ผมเข้าใจเขานะครับ ชาบางชนิด หนึ่งปี เก็บได้ครั้งเดียวเอง เช่นชาน้ำค้าง เป็นต้น

แต่ที่น่าเวียนหัวมาก ๆ คือ บริเวณศูนย์อาหาร คนรอคิวนั่งโต๊ะ เหมือนเล่นเก้าอี้ดนตรีเลยครับ เพราะอะไรน่ะหรือครับ ก็เพราะว่า ปีนี้ผมว่าราคาอาหารถูกนะ ถูกกว่าปีที่แล้วคนก็อุดหนุนกันคับคั่ง ทุกสิ่งทุกอย่างของงานปีนี้สัมผัสได้ หยิบเลือกชมได้อย่างใกล้ชิด และเป็นกันเอง อีกสิ่งที่เห็นก็รอยยิ้มของผู้ที่นำสินค้าของกลุ่มตนเองได้มาจำหน่ายได้เงินกลับบ้าน บางร้าน หรือบางคูหา ก็ขายไม่ได้นั่งเซ็งก็มี บางร้านของขายหมดแล้ว แต่ยังรอส่งของ และมีคำสั่งซื้อล่วงหน้าอีก คุยกันบางร้านบอกว่า ปีนี้ได้ oder งานหลายชิ้นเกรงจะทำไม่ทัน แบบนี้ก็มี เห็นแล้วปลื้มแทน

สรุปตามประสาผมนะครับ ผมว่างานแบบนี้ดีมากครับ ให้กลุ่มผู้ผลิต พบกับผู้บริโภคโดยตรง โดยผู้บริโภคไม่ต้องเดินทางไปซื้อถึงที่ หรือไม่ต้องซื้อผ่านพ่อค้าคนกลาง ขอให้มีทุก ๆ ปีนะครับ(รัฐบาล) ปลายปีว่าจะหาโอกาสมาอีก แล้วท่านละครับ ไปเที่ยวงาน otop ของไทยเรา กันบ้างหรือยัง หากยังปลายปีมีอีกครั้ง มาอุดหนุนสินค้าของคนไทยกันนะครับ

วันอาทิตย์ที่ 15 สิงหาคม พ.ศ. 2553

วันอาสาฬหบูชา





วันอาสาฬหบูชา ปี 2553 นี้ มีโรงเรียนที่มีแนวคิดเดียวกันร่วมกันจัดกิจกรรม เพื่อพัฒนาคุณธรรมจริยธรรมแก่เด็กนักเรียนขึ้น โดยใช้เหตุการณ์วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เป็นแนวทางในการดำเนินกิจกรรม นับว่าเป็นการเสียสละของครู และนักเรียน เหลือเกิน เพราะว่าต้องมาทำกิจกรรม แต่ตามความรู้สึกของผมแล้วคิดว่า วันหยุดทั้งทีทำดีเป็นการสร้างกุศลแห่งความดี ให้แก่ตนเองมากกว่า เพราะหายากมากที่เด็กวัยนี้จะสนใจในกิจกรรมเช่นนี้
จากการสังเกตการจัดกิจกรรมของวิทยากร คือ พระนิสิตจาก มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย การจัดกิจกรรมของท่านวิทยากร ครั้งนี้ แปลกไปจากที่เคยเห็น พระสอนศีลธรรม ทั่ว ๆ ไป คือท่านมีสื่อการสอน ที่เหมาะสมกับวัยความสนใจของเด็ก เล็ก ๆ ไม่เคร่งกับการให้เด็กนั่งตัวตรง เจริญสติภาวนาตลอด ตลอดกิจกรรมสอดแทรกคุณธรรมที่บรรดาครูยังปลูกฝังไม่เท่าท่านเลย จากการสอบถามเด็กในกิจกรรมบอกความในใจ เด็กหลายคนพูดว่า " ดีใจที่ได้มา ตอนแรกไม่อยากมา คิดว่าค่ายคุณธรรมต้องนั่งภาวนาอย่างเดียว มาครั้งนี้คุ้มจริง รักพ่อ รักแม่มาก ต่อไปจะตั้งใจเป็นลูกที่ดี " บางคนอาลัยกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ อยากให้ครูพระที่สอนศีลธรรมตามโรงเรียนต่าง ๆ ทั่วประเทศ ปรับเปลี่ยนวิธีการบ้าง เด็กจะได้ไม่เบื่อ ลำพังเบื่อครูก็พอทนอยู่แล้ว อย่าให้เบื่อพระอีกเลย

วันเสาร์ที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2553

เที่ยวงานไทยเฟิน
























































เมื่อสัปดาห์ก่อน ได้มีโอกาสไปเที่ยวงาน เฟินแห่งปี ชื่องานว่า " ไทเฟิน ชมเฟิน เพลินใจ ครั้งที่ 4 " จัดขึ้น ณ ศูนย์ไม้ดอกไม้ประดับ นนทบุรี (ซอยช้าง) ระหว่างวันที่ 5 - 7 มีนาคม 2553 ที่ผ่านมา
ผมไปเที่ยวมา 2 วัน วันแรกเป็นวันเสาร์ ซึ่งเป็นวันที่ 2 ของการจัดงาน เมื่อเข้าถึงงานก็ต้องตลึง ไม่นึกไม่ฝันว่า ชุมชนของคนรักเฟิน จะมีพลังขนาดนี้ บรรยากาศสมกับเป็นงานของต้นไม้ประเภทเฟิน มีเฟินและมอส ประดับเต็มไปหมด สวยงามสบายตา และรู้สึกตัวว่ามีความสุข ที่ได้มา มีบรรยากาศคล้ายเดินอยู่ในป่าร้อนชื้น เพราะมีการพ่นละอองน้ำเย็นสบาย ไม่รู้สึกร้อนแต่ประการใด นี่เป็นเคล็ดของการจัดงานที่เดินแล้วไม่เบื่อเพราะร้อน และเมื่อได้สัมผัสกับเจ้าของร้านค้า หรือเจ้าของเฟิน ก็ตอบรับทักทายด้วยอาการยิ้มแย้มแจ่มใส ยังไม่ซื้อก็ไม่ได้ว่าอะไร เดินชม เลือกดู ถ่ายภาพ เฟินแปลก พูดคุยซักถามกับผู้ที่มาร่วมแสดงผลงานการเลี้ยงดูเฟินของตัวเอง เขาก็พุดคุยด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม จนมีความรู้สึกว่า มางานแสดงนิทรรศการเฟินของบรรดาเหล่าสมาชิกมากกว่าครับ ที่บอกว่าเหมือนการจัดนิทรรศการ น่ะครับ ก็เพราะว่า การจัดนิทรรศการจะเป็นการแสดงความสำเร็จ และนำมาแสดงให้ทุกคนได้ชื่นชมกัน เพราะบางคูหา หรือที่เรียกว่าร้านนะแสดงผลงานการเลี้ยงดูเฟินเป็นอย่างดี สวยงามมาก แต่ไม่สนใจจำหน่าย ยืนคอยตั้งนานก็ไม่มีเจ้าของมาไต่ถามว่าต้องการอะไร ในงานมีกิจกรรมที่น่าสนใจมากมาย ตั้งแต่การลงทะเบียนเข้าชมงาน การสอยดาวเฟิน การประมูลเฟิน การประกวดเฟิน ฯลฯ ที่ขาดไม่ได้ก็คือจำหน่ายเฟิน ในราคาที่ไม่แพง ต่อรองได้เหมือนซื้อของทั่ว ๆ ไป วันแรกของการชมเฟินเพลินใจ ของผม เงินหมดกระเป๋า ต้องกลับไปค้นหาเศษเล็กเศษน้อยในรถมาซื้อเพิ่ม คิดว่าปีนี้พอแค่นี้แหละ

พอวันที่ 7 มีนาคม 2553 เป็นวันอาทิตย์ ภาพงานไทเฟิน ยังติดตาอยู่ จึงหาโอกาสในช่วงบ่าย โชคดี มาทันการประกวดเฟิน คิดไม่ผิดเลยครับที่มาอีก ในวันนี้ ภาพเฟินแปลก เฟินสวย หลากหลายชนิด ต่างลงสนามประกวดกันมากมาย บางชนิด มาวันแรก ไม่เห็น ก็เพิ่งมาเห็นวันนี้เอง ละลานตา ตื่นตาตื่นใจครับ คนไม่รักเฟินดูแล้วก็งั้น ๆ แต่สำหรับคนรักเฟินแล้ว มีความรู้สึกว่าไม่ธรรมดา ผู้มาชมงานมาจากต่างที่กัน ก็สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ด้านการดูแล การเพาะเลี้ยงเหมือนคุ้ยเคยกันมานาน ทั้ง ๆ ที่เพิ่งเจอกันครั้งแรก นี่แหละครับเสน่ห์ของงานไทเฟินเขาละครับ ผมให้สัญญากับตัวเองแล้วว่าปีหน้าจะกลับมางานนี้อีก ติดใจครับ

วันจันทร์ที่ 15 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระพิฆเนศวร





เมื่อวันมาฆบูชา ปี 2553 นี่ ตรงกับวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 เลยวันวาเลนไทน์ ผมและครอบครัว กลับไปเยี่ยมบ้านเกิดที่จังหวัดปราจีนบุรี เพื่อทำบุญที่วัดใกล้บ้าน ที่สำคัญเพื่อพาลูกหลานไปกราบคุณย่า เป็นการปลูกฝังความรัก ความถูกพันในครอบครัว ขากลับ ตั้งใจไปกราบนมัสการหลวงพ่อโสธร เพราะเป็นทางผ่าน กลับทางสายอำเภอบางน้ำเปรี้ยว อำเภอบ้านสร้าง จังหวัดปราจีนบุรี เป็นทางตัดมานานแล้ว และไม่ต้องอ้อมไปทางอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ระหว่างทาง เห็นป้ายปักข้างทางว่านมัสการพระพิฆเนศวร ริมแม่น้ำบางประกง ก็เลยให้บุตรชายที่เป็นพลขับ ขับรถตามป้ายบอกข้างทางไปเรื่อยๆ แบบสืบเสาะ หาเอาเอง สนุกดี ซึ่งมีคนนั่งข้าง ๆ คอยกระแนะกระแหนตลอดทางว่า ทำไมไกลจัง จะดีหรือเปล่าเนี่ย ร้อนแล้วนะ แดดส่องหน้าดำหมดแล้ว เสียงเหล่านี้สำเนียงเหมือนค่อนแคะตลอดเวลา เมื่อไปถึงวัดดังกล่าว ชื่อว่าสมานรัตนาราม (ใหม่ขุนสมาน) จ.ฉะเชิงเทรา ลักษณะภูมิประเทศของที่ตั้งวัดนี้ อยู่ตรงเกาะกลางแม่น้ำบางประกง มีสะพานข้ามถึงวัดทั้ง 2 ฝากฝั่งของเกาะ คือคือฝั่งซ้ายของวัดก็มีสะพาน ฝั่งขาวของวัด็มีสะพาน เข้าถึงวัดได้สะดวกสะบาย พอถึงวัดจอดรถเรียบร้อยก็ต้อง ก็ตลึงในความงาม ขององค์พระพิฆเนศวร ที่อยู่ในท่านอน สวยงามสง่ามาก ใหญ่โต สีชมพูสดใส ทุกคนที่ไปอดที่จะถ่ายรูปเสียมิได้ หากไม่มีกล้องก็ใช้โทรศัพท์ที่ถ่ายรูปได้ ถ่ายเป็นที่ระลึกว่าครั้งหนึ่งได้มาที่นี่แล้วนะ
วัดสมานรัตนาราม (ใหม่ขุนสมาน) นี้ ตั้งอยู่ในทำเลที่เหมาะสม หน้าวัดติดแม่น้ำบางประกง ที่ใสมีสีเขียว เพราะน้ำเริ่มเค็มแล้ว เพราะอยู้ใกล้ปากแม่น้ำบางประกง น้ำทะเลขึ้นถึงครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจากวิกิพิเดีย พจนานุกรมเสรีที่เอื้อเพื้อตำนานและประวัติของพระพิฆเนศวร


ลักษณะของพระพิฆเนศวรและประวัติพระพิฆเนศวร จาก.wikipedia.org พจนานุกรมเสรี

มีรูปกายเป็นมนุษย์อ้วนเตี้ย ท้องพลุ้ย มีเศียรเป็นช้าง มีงาข้างเดียว (ถูกขวาน ปรศุรามหักเสียงา) สีกายสีแดง (บางแห่งว่าผิวเหลือง นุ่งห่มแดง) มีสี่กร พระหัตถ์หน้าขวาถืองาช้าง พระหัตถ์ซ้ายถือขันน้ำมนต์ เป็นกระโหลกศีรษะมนุษย์ พระหัตถ์หลังขวาถือ ตรี พระหัตถ์ซ้ายถือบาศ (บ่วง) พาหนะคือ หนู

ตำนาน

ในคราวที่พระศิวะเทพทรงไปบำเพ็ญสมาธิเป็นระยะเวลานานอยู่นั้น พระแม่ปารวตีเนื่องจากอยู่องค์เดียวเลยเกิดความเหงา และ ประสงค์ที่จะมีผู้มาคอยดูแลพระองค์และป้องกันคนภายนอก ที่จะเข้ามาก่อความ วุ่นวายในพระตำหนัก


ในจึงทรงเสกเด็กขึ้นมาเพื่อเป็นพระโอรสที่จะเป็นเพื่อนในยามที่องค์ศิวเทพ เสด็จออกไปตามพระกิจต่างๆมีอยู่คราวหนึ่ง เมื่อพระนางทรงเข้าไปสรงในพระตำหนักด้านในนั้นองค์ศิวเทพได้ กลับมาและเมื่อ จะเข้าไปด้านในก็ถูกเด็กหนุ่มห้ามไม่ให้เข้า เนื่องจากไม่รู้ว่าเป็นใครและในลักษณะเดียวกันศิวเทพก็ไม่ทราบว่าเด็กหนุ่ม นั้นเป็นพระโอรสที่พระแม่ปารวตีได้เสกขึ้นมา

เมื่อพระองค์ถูกขัดใจก็ทรงพิโรธและตวาดให้เด็กหนุ่มนั้นหลีกทางให้ พลาง ถามว่ารู้ไหมว่ากำลังห้ามใครอยู่ ฝ่ายเด็กนั้นก็ตอบกลับว่าไม่จำเป็นที่จะต้องรู้ว่าเป็นใครเพราะตนกำลังทำตาม บัญชาของพระแม่ปารวตี และทั้งสองก็ได้ทำการต่อสู้กันอย่างรุนแรง จนเทพทั่วทั้งสวรรค์เกิดความวิตกในความหายนะที่จะตามมา และในที่สุดเด็กหนุ่มนั้นก็ถูกตรีศูลของมหาเทพจนสิ้นใจ และศีรษะก็ถูกตัดหายไป

ในขณะนั้นเองพระแม่ปารวตีเมื่อได้ยินเสียงดังกึกก้องไปทั่วจักรวาล ก็ เสด็จออกมาด้านนอกและถึงกับสิ้นสติเมื่อเห็นร่างพระโอรสที่ปราศจากศีรษะ และเมื่อได้สติก็ทรงมีความโศกาอาดูร และตัดพ้อพระสวามีที่มีใจโหดเหี้ยมทำ ร้ายเด็กได้ลงคอ โดยเฉพาะเมื่อเด็กนั้นเป็นพระโอรสของพระนางเอง

เมื่อได้ยินพระนางตัดพ้อต่อว่าเช่นนั้นองค์มหาเทพก็ทรงตรัสว่าจะทำ ให้ เด็กนั้นกลับพื้นขึ้นมาใหม่แต่ก็เกิดปัญหา เนื่องจากหาศีรษะที่หายไปไม่ได้ และยิ่งใกล้เวลาเช้าแล้วต่างก็ยิ่ง กระวนกระวายใจเนื่องจากหากดวงอาทิตย์ขึ้น แล้วก็จะไม่สามารถชุบชีวิตให้เด็กหนุ่มฟื้นขึ้นมาได้เมื่อเห็น

เช่นนั้นพระศิวะเลยบัญชาให้เทพที่มาช่วยให้เอาศีรษะสิ่งที่มีชีวิต แรก ที่พบมาและปรากฏว่าเหล่าเทพได้นำเอาศีรษะช้างมาซึ่งพระศิวะทรงนำศีรษะมาต่อ ให้และชุบชีวิตให้ใหม่พร้อมยกย่อง ให้เป็นเทพที่สูงที่สุด และขนานนามว่า พระพิฆเนศวร ซึ่งแปลว่าเทพผู้ขจัดปัดเป่าอุปสรรคและยังทรงให้พรว่าในการประกอบ พิธีการต่างๆทั้งหมดนั้นจะต้องทำพิธีบูชาพระพิฆเนศวรก่อนเพื่อความสำเร็จของ พิธีนั้น

เนื่องจากพระพิฆเนศวรมีพระวรกายที่ไม่เหมือนเทพอื่นๆนั้น ได้มีการอธิบายถึงพระวรกายของพระองค์ท่านดังนี้

1. พระเศียรของท่านหมายถึงวิญญาณซึ่งเป็นส่วนสำคัญของการมีชีวิต

2. พระวรกายแสดงถึงการที่เป็นมนุษย์ที่อยู่บนพื้นปฐพี

3. ศีรษะช้างแสดงถึงความเฉลียวฉลาด

4. เสียงดังที่เปล่งออกมาจากงวงหมายถึงคำว่า โอม ซึ่งเป็นเสียงแสดงถึงความเป็นสัจจะของสุริยจักรวาล

5. หระหัตถ์บนด้านขวาทรงเชือกบ่วงบาศน์ที่ทรงใช้ในการนำพามนุษย์ไปสู่เส้นทาง แห่งธรรมะและหลุดพ้นพร้อมทรงขจัดอุปสรรคในระหว่างทาง

6. พระหัตถ์บนซ้ายทรงเชือกขอสับที่ใช้ในการป้องกันและพันฝ่าความยากลำบาก

7. มือขวาล่างทรงงาที่หักครึ่งซึ่งพระองค์ทรงใช้เป็นปากกาในการเขียนมหากาพย์ มหาภารตะให้มหาฤษีเวทวยาสมุนีและเป็นสัญญลักษณ์แห่งความเสียสละ


8. อีกมือทรงลูกประคำที่แสดงว่าการแสวงหาความรู้จะต้องเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ตลอดเวลา

9.ขนมโมณฑกะหรือขนมหวานลัดดูในงวงเป็นการชี้นำว่ามนุษย์จะต้องแสวง หาความ หวานชื่นในจิตวิญญาณของตนเองเพื่อที่จะได้มีจิตเอื้อเพื้อเผื่อแผ่ให้กับคน อื่นๆ

10. หูที่กว้างใหญ่เหมือนใบพัดหมายความว่าท่านพร้อมที่รับฟังสิ่งที่เราร้อง เรียนและเรียกหา

11. งูที่พันอยู่รอบท้องท่านแสดงถึงพลังที่มีอยู่โดยรอบ

12. หนูที่ทรงใช้เป็นพาหนะแสดงถึงความไม่ถือองค์และพร้อมที่จะเกี่ยวข้องกับสิ่ง มีชีวิตที่เล็กและเป็นที่รังเกียจของมนุษย์ส่วนมาก

ผลที่ได้จากการบูชาพระพิฆเนศ

วันอังคารที่ 19 มกราคม พ.ศ. 2553

16 ,มกรา วันครู ของประเทศไทย


วันครูได้จัดให้มีขึ้นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 สืบเนื่องมาจากการประกาศพระราชบัญญัติครูในราชกิจจานุเบกษา เมื่อ พ.ศ. 2488 ซึ่งระบุให้มีสภาในกระทรวงศึกษาธิการเรียกว่า คุรุสภาเป็นนิติบุคคลให้ครูทุกคนเป็นสมาชิกคุรุสภา โดยมีหน้าที่ในเรื่องของสถาบันวิชาชีพครูในขณะเดียวกันก็ทำหน้าที่ให้ความ เห็นเรื่องนโยบายการศึกษาและวิชาการศึกษาทั่วไปแก่กระทรวงศึกษาธิการ ควบคุม จรรยาและวินัยของครูรักษาผลประโยชน์ ส่งเสริมฐานะของครู จัดสวัสดิการให้ครูและครอบครัว ได้รับความช่วยเหลือตามสมควร ส่งเสริมความรู้และความสามัคคีของครู

ด้วยเหตุนี้ในทุกปี คุรุสภาจะจัดให้มีการประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้แทนครูจากทั่วประเทศแถลงผลงานในรอบปีที่ผ่านมา และชักถามปัญหาข้อข้องใจต่างๆ เกี่ยวกับการดำเนินงานของคุรุสภาโดยมีคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาเป็นผู้ตอบ ข้อสงสัย สถานที่ ในการประชุมสมัยนั้นใช้หอประชุมสามัคคียาจารย์ หอประชุมของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และในระยะหลังใช้หอประชุมคุรุสภา

ปี พ.ศ. 2499 ในที่ประชุมสามัญคุรุสภาประจำปี จอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรีและประธานกรรมการอำนวยการคุรุสภากิตติมศักดิ์ ได้กล่าวคำปราศรัยต่อที่ประชุมครูทั่วประเทศว่า

"ที่อยากเสนอในตอนนี้ก็คือว่า เนื่องจากผู้เป็นครูมีบุญคุณ เป็นผู้ให้แสงสว่างในชีวิตของเราทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าวันครูควรมี สักวันหนึ่งสำหรับให้บรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายได้แสดงความเคารพ สักการะต่อบรรดาครูผู้มีพระคุณทั้งหลาย เพราะเหตุว่าสำหรับ คนทั่วไปถ้าถึงวันตรุษ วันสงกรานต์ เราก็นำเอาอัฐิของผู้มีพระคุณบังเกิดเกล้ามาทำบุญ ทำทาน คนที่สองรองลงไปก็คือครูผู้เสียสละ ทั้งหลาย ข้าพเจ้าคิดว่าในโอกาสนี้จะขอฝากที่ประชุมไว้ด้วย ลองปรึกษาหารือกันในหลักการ ทุกคนคงจะไม่ขัดข้อง"

จากแนวความคิดนี้ กอปรกับความเห็นของครูที่แสดงออกทางสื่อมวลชนและอื่นๆ ล้วนเรียกร้องให้มีวันครูเพื่อให้เป็นวันแห่งการรำลึก ถึงความสำคัญของครูในฐานะที่เป็นผู้เสียสละ ประกอบคุณงามความดี เพื่อประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นอันมากในปีเดียวกันที่ประชุมคุรุสภา สามัญประจำปีจึงได้พิจารณาเรื่องนี้และมีมติเห็นควรให้มีวันครูเพื่อเสนอ คณะกรรมการอำนวยการต่อไป โดยได้เสนอหลักการว่า เพื่อจะได้ประกอบพิธีระลึกถึงคุณบูรพาจารย์ ส่งเสริมสามัคคีธรรมระหว่างครูและเพื่อส่งเสริม ความเข้าใจอันดีระหว่างครูกับประชาชน

การจัดงานวันครูได้จัดเป็นครั้งแรกเมื่อ 16 มกราคม พ.ศ. 2500 กระทรวงศึกษาธิการสั่งการให้นักเรียนและครูหยุดในวันดังกล่าวได้ ในส่วนกลางใช้สถานที่ของกรีฑาสถานแห่งชาติเป็นที่จัดงานวันครูนี้ได้กำหนด เป็นหลักการให้มีอนุสรณ์งานวันครูไว้แก่อนุชนรุ่นหลังทุกปี อนุสรณ์ที่สำคัญคือ หนังสือประวัติครู หนังสือที่ระลึกวันครู และสิ่งก่อสร้างเป็นถาวรวัตถุ

การจัดงานวันครูได้ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงกิจกรรมให้สอดคล้องกับการเปลี่ยน แปลงของสังคมตลอดเวลา ในปัจจุบันได้จัดรูปแบบ การจัดงานวันครูจะมีกิจกรรม 3 ประเภทหลักดังนี้

  • กิจกรรมทางศาสนา
  • พิธีรำลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์ ประกอบด้วยพิธีปฏิญาณตน การกล่าวคำระลึกถึงพระคุณบูรพาจารย์
  • กิจกรรมเพื่อความสามัคคีระหว่างผู้ประกอบอาชีพครู ส่วนมากเป็นการแข่งขันกีฬาหรือการจัดงานรื่นเริงในตอนเย็น

นายกรัฐมนตรีมอบรางวัลครูดีเด่นประจำปี มอบของที่ระลึกให้ครูอาวุโสนอกและในประจำการจรรยา

[แก้] รายชื่อประเทศที่มีวันครู

[แก้] ประเทศที่มีวันครูที่ไม่ใช่วันหยุด

ประเทศ วันครู
ธงของสาธารณรัฐอินเดีย อินเดีย 5 กันยายน
ธงของประเทศมาเลเซีย มาเลเซีย 16 พฤษภาคม
ธงของประเทศตุรกี ตุรกี 24 พฤศจิกายน

[แก้] ประเทศที่มีวันครูเป็นวันหยุด

ประเทศ วันครู
ธงของสาธารณรัฐแอลเบเนีย แอลเบเนีย 7 มีนาคม
Flag of the People's Republic of China จีน 10 กันยายน
ธงของสาธารณรัฐเช็ก สาธารณรัฐเช็ก 28 มีนาคม
ธงของประเทศอิหร่าน อิหร่าน 2 พฤษภาคม
ละตินอเมริกา 11 กันยายน
ธงของประเทศโปแลนด์ โปแลนด์ 14 ตุลาคม
ธงของสหพันธรัฐรัสเซีย รัสเซีย 5 ตุลาคม
ธงของประเทศสิงคโปร์ สิงคโปร์ 1 กันยายน
ธงของประเทศสโลวีเนีย สโลวีเนีย 28 มีนาคม
ธงของประเทศเกาหลีใต้ เกาหลีใต้ 15 พฤษภาคม
ธงของสาธารณรัฐจีน ไต้หวัน 28 กันยายน
Flag of ไทย ไทย 16 มกราคม
ธงของสหรัฐอเมริกา สหรัฐอเมริกา วันอังคารในสัปดาห์แรกที่เต็ม 7 วันในเดือนพฤษภาคม
ธงของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เวียดนาม 20 พฤศจิกายน

[แก้] อ้างอิง

  • หนังสือวันสำคัญโครงการปีรณรงค์วัฒนธรรมไทยฯ ของสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ

  • วันครูของฉัน
  • ตั้งแต่ เกิดมา ตัวฉัน
  • ผูกพัน กับครู คู่หนึ่ง
  • สั่งสอน ฉันอย่าง ลึกซึ้ง
  • สอนถึง เติบใหญ่ วัยเรียน
  • ครูนั้น ท่านคือ แม่พ่อ
  • ผู้ก่อ ผู้ให้ ตัวฉัน
  • สอนสั่ง ทุกวี่ ทุกวัน
  • สอนหวัง ให้ลูก ถูกทาง

  • ย่างก้าว เข้ารั้ว โรงเรียน
  • พากเพียร เขียนอ่าน มุ่งหวัง
  • อ่านออก เขียนได้ เร็ววัน
  • ครู...ท่าน สอนให้ เป็น.. คนดี

  • อีกครู ที่ฉัน จำแม่น
  • เป็นครู คู่แผ่น ดินฉัน
  • เป็นพ่อ เป็นครู คู่กัน
  • ท่านนั้น คือ.."ภู.. มิพล"
  • ท่านสอน ปวงราษฎร์ ทั้งหลาย
  • สอนให้ รักผืน ดิน...น้ำ
  • รักชาติ ประเทศ เขตคาม
  • รักความ สมาน สามัคคี

  • อีกครู เป็นผู้ ยิ่งใหญ่
  • ก้องไป ทั่วภพ ทั้งหลาย
  • สอนให้ มนุษย์ ได้สบาย
  • รู้ใจ รู้กาย ของตน
  • สอนให้ งดฆ่า งดอบาย
  • ทำใจ ละกิเลส ให้สิ้น
  • ฝึกจิต ให้หมด มลทิน
  • ละสิ้น ดั่งคำ " พุทธองค์ "